ควรอบรมการทำงานกับปั้นจั่น เพื่อเรียนรู้วิธีใช้งานและวิธีบำรุงรักษา

เราสามารถเรียนรู้วิธีการใช้งานและการบำรุงรักษาปั้นจั่นได้ ด้วยการอบรมเพิ่มเติม

‘ปั้นจั่น’ เมื่อเอ่ยถึงคำๆ นี้บางคนอาจจะนึกถึงชายหนุ่มผู้เป็นดารานักแสดง แต่..ไม่ใช่จ้ะ ‘ปั้นจั่น’ ในที่นี้ที่กำลังกล่าวถึงคือ ‘เครน’ (Crane) ในภาษาอังกฤษต่างหาก เราอยากจะให้ความกระจ่างเพื่อความเข้าใจว่า ปั้นจั่น หมายถึง เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการยกสิ่งของหรือวัตถุขึ้นลงตามแนวดิ่งของโลกและเคลื่อนย้ายสิ่งของนั้นๆ ไปในลักษณะแขวนลอยไปตามแนวราบ ปั้นจั่นหรือเครนจัดเป็นเครื่องจักรที่ใช้งานได้ในพื้นที่จำกัด เนื่องจากด้วยข้อจำกัดทางโครงสร้างและการติดตั้งจึงทำให้ความสามารถในการเคลื่อนย้ายวัตถุเป็นไปตามแนวทางเดินของปั้นจั่นเพียงเท่านั้น

คงจะพอรู้แล้วว่า ปั้นจั่นหรือเครน จัดเป็นเครื่องจักรชนิดไม่เล็กเลย เช่นนั้น ผู้ที่จะต้องทำงานข้องเกี่ยวกับสิ่งนี้ควรอย่างยิ่งที่จะมีการอบรมการทำงานกับปั้นจั่นหรือเครน เพื่อจะได้มีความรู้ต่างๆ โดยในการอบรมก็จะสอนให้รู้จักเครื่องจักรชนิดนี้มากขึ้น เป็นต้นว่า ปั้นจั่นที่ใช้ในการเคลื่อนย้ายวัตถุมีหลายประเภท ซึ่งสามาถแบ่งด้วยการใช้การเคลื่อนที่เป็นเกณฑ์ได้ 2 ประเภทหลักๆ

ประเภทแรก คือ ปั้นจั่นแบบอยู่กับที่ (Stationary Crane) เป็นแบบที่ประกอบด้วยอุปกรณ์การควบคุมและมีเครื่องต้นกำลังอยู่ในตัว ซึ่งจะติดตั้งอยู่บนหอสูง บนขาตั้งหรือบนล้อเลื่อน การใช้งานจะถูกจำกัดตามระยะที่ขาตั้งหรือล้อเลื่อนจะสามารถเคลื่อนที่ไปได้หรือแขนของปั้นจั่นที่ติดอยู่บนหอสูงจะยาวไปถึง ปั้นจั่นชนิดนี้ส่วนมากจะนำไปใช้งานมากในโรงงานอุตสาหกรรม ท่าเรือและการก่อสร้างตึกสูงๆ ได้แก่ ปั้นจั่นหอสูง (Tower Crane) ปั้นจั่นราง (Overhead Crane) ปั้นจั่นขาสูง (Gantry Crane) ปั้นจั่นขาสูงแบบข้างเดียว (Semi Gantry Crane) และปั้นจั่นติดผนัง (Wall Crane)  

ประเภทที่สอง คือ ปั้นจั่นแบบเคลื่อนที่ (Mobile Crane) เป็นปั้นจั่นที่ประกอบด้วยอุปกรณ์ควบคุมและมีเครื่องต้นกำลังติดอยู่บนยานที่ขับเคลื่อนในตัวเอง หรือจะกล่าวได้ว่า อุปกรณ์และเครื่องต้นกำลังจะติดตั้งอยู่บนยานพาหนะต่างๆ ได้แก่ รถตีนตะขาบ (Crawler Crane) รถบรรทุกล้อยาง (All Terrain Crane) รถเครน 4 ล้อ (Rough Terrain Crane) และ รถบรรทุกที่มีปั้นจั่นติดอยู่บนรถ (Truck Loader Crane)

เมื่อรู้จักปั้นจั่นหรือเครนชนิดต่างๆ ไปแล้ว จากนั้นก็จะได้รู้เรื่องการใช้งานตั้งแต่เริ่มต้น อาทิเช่น การตรวจสอบปั้นจั่นหรือเครนก่อนจะเริ่มใช้งาน ผู้ใช้งานและผู้ตรวจสอบจะต้องทำการตรวจเช็กทั้งในส่วนของระบบการทำงานและชิ้นส่วนของเครื่องว่าไม่มีส่วนใดที่เป็นปัญหาหรืออาจจะก่อให้เกิดอันตราย หากพบปัญหาให้รีบนำไปแก้ไขหรือซ่อมก่อนจะนำกลับมาใช้งาน, การเลือกใช้งานปั้นจั่นหรือเครนให้ถูกประเภท, การตรวจสอบเรื่องน้ำหนักที่ปั้นจั่นหรือเครนจะสามารถรับได้ก่อนจะใช้งานทุกครั้งและไม่ควรจะยกเกินกว่าน้ำหนักมาตรฐานที่กำหนดไว้ ไม่ควรจะยกของสูงค้างไว้เป็นเวลานาน เนื่องจากจะทำให้ปั้นจั่นหรือเครนรับน้ำหนักมากเกินไป, ไม่ควรจะเล่นหรือแกล้งกันเวลาใช้งานปั้นจั่นหรือเครน เพราะจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ แล้วขณะใช้งานหากพบสิ่งผิดปกติหรือขัดข้องให้หยุดใช้งานทันที หลังจากใช้งานเสร็จเรียบร้อยหรือเลิกงานจะต้องนำปั้นจั่นหรือเครนไปเก็บไว้ที่ตำแหน่งที่กำหนดทุกครั้งพร้อมทำการตัดไฟ เพื่อไม่ให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร

ส่วนการบำรุงรักษาปั้นจั่นหรือเครนเบื้องต้นก็มีดังนี้ ให้ทำการตรวจสอบสภาพโครงสร้างหลักของปั้นจั่นหรือเครน โดยระบบตรวจสอบรอยเชื่อม สภาพน๊อตและการคลายตัวต่างๆ , ตรวจระบบต้นกำลังและตรวจสอบระบบหล่อลื่นรวมไปถึงระบบเชื้อเพลิง ระบบระบายความร้อน มอเตอร์ ระบบควบคุมไฟฟ้า ระบบต่อกำลังและระบบเบรคของปั้นจั่นหรือเครน, ตรวจสอบการเคลื่อนที่ของปั้นจั่นหรือเครน แล้วก็ตรวจสอบการทำงานของชุดควบคุมพิกัดการยกและตรวจสอบพิกัดการยก โดยการใช้น้ำหนักจริง เพื่อทดสอบการยกอย่างปลอดภัย นอกจากนั้นก็ตรวจสอบม้วนรอก สลิง ตรวจสอบเส้นผ่าศูนย์กลางของสลิง โซ่และการชำรุดสึกหรอของปั้นจั่นหรือเครน สุดท้ายตรวจสอบสัญญาณเสียงและไฟเตือน ความสว่างของไฟเตือนและระบบเสียงเตือนของปั้นจั่นหรือเครนว่าได้ยินชัดเจนหรือไม่ หากตรวจสอบทุกส่วนแล้วพบปัญหาควรจะรีบทำการซ่อมให้เรียบร้อยก่อนจะนำปั้นจั่นหรือเครนไปใช้งาน

ทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่สำคัญในการทำงานและการใช้งานกับเครื่องจักรอุปกรณ์ขนาดใหญ่อย่างปั้นจั่นหรือเครน ซึ่งผู้ใช้งานและหน่วยงานควรจะเห็นความสำคัญของการอบรม เพื่อจะทำให้งานต่างๆ มีประสิทธิภาพมีคุณภาพและไม่พบปัญหาทั้งในวันนี้และวันหน้า

บทความและหลักสูตรที่น่าสนใจ