ความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง

การทำงานกิจการก่อสร้าง ความปลอดภัยต้องมาก่อนเสมอ

ในปัจจุบัน กิจการก่อสร้างเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการปลูกสิ่งก่อสร้างมากมาย ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกอย่างมากต่อชีวิตประจำวันของคนเรา และยังตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนที่ต้องการที่อยู่อาศัยอีกด้วย เพราะฉะนั้น มันเลยทำให้กิจการก่อสร้างจึงเป็นหนึ่งในกิจการที่สำคัญอย่างมากต่อประเทศ แต่ถึงกระนั้นกิจการก่อสร้างก็เป็นอีกหนึ่งงานที่มีความอันตรายอยู่เหมือนกัน เพราะเป็นงานที่ต้องทำงานอยู่กับเครื่องจักร หรือความสูง ซึ่งถ้าหากเผลอพลั้ง ก็อาจจะนำมาซึ่งความอันตรายที่ถึงแก่ชีวิตเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นแล้ว มาตรการความปลอดภัยในการทำงานกิจการก่อสร้าง จึงได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อควบคุมความเสี่ยงนี้นั่นเอง

โดยความปลอดภัยดังกล่าวนี้ ได้มีระบุไว้ใน กฏกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยในปี พ.ศ. 2549  ซึ่งมีการระบุในบททั่วไป โดยมีรายละเอียดสำคัญดังนี้

1. นายจ้างต้องจัดทำพื้นที่ทำงานก่อสร้างให้มีความมั่นคงแข็งแรงสามารถรองรับน้ำหนักเครื่องจักรได้อย่างปลอดภัย

2. นายจ้างต้องจัดให้มีผู้ควบคุมงานทำหน้าที่ตรวจความปลอดภัยในการทำงานทั้งก่อน ขณะปฏิบัติการ และหลังการทำงาน

3. นายจ้างต้องจัดให้มีการรักษาความสะอาดในบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง โดยจัดเก็บวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้างให้เรียบร้อย และแยกของเหลือใช้หรือขยะทั้งที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตราย 

4. ในกรณีที่มีการใช้วัตถุระเบิดในงานก่อสร้าง ต้องจัดให้มีระบบการเก็บรักษาและดูแลการใช้วัตถุระเบิด

5. ในกรณีที่ผู้ปฏิบัติงานต้องทำงานก่อสร้างบนพื้นต่างระดับที่มีความสูงตั้งแต่ 1.50 เมตรขึ้นไป ต้องมีการสร้างบันไดหรือทางลาดพร้อมทั้งติดตั้งราวกั้นหรือรั้วกันตกที่มั่นคงแข็งแรงเพื่อให้เกิดความปลอดภัย

6. ห้ามนายจ้างให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานก่อสร้างในขณะเกิดภัยธรรมชาติ 

7. ให้นายจ้างจัดให้มีแสงสว่างฉุกเฉินในเขตก่อสร้างให้เพียงพอ 

8. ให้นายจ้างติดป้ายเตือนอันตรายในบริเวณทางเข้าออก

9. ให้นายจ้างติดป้ายแสดงหมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความช่วยเหลือในยามฉุกเฉิน และควรติดตั้งป้ายเตือนและป้ายบังคับในเขตก่อสร้าง เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติงานทั่วไป

10. ควรให้มีการจัดอบรมผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการทำงานเป็นระยะ ๆ 

11. หากจะมีการรับส่งผู้ปฏิบัติงานมาที่สถานที่ก่อสร้าง ควรมีการจัดให้มีการใช้ยานพาหนะที่เหมาะสมและมีความปลอดภัย

ซึ่งสิ่งที่กล่าวไปข้างต้น เป็นสิ่งที่จะช่วยทำให้เกิดความปลอดภัยภายในสถานที่ก่อสร้าง แต่แน่นอนว่าย่อมจะต้องเกิดอุบัติเหตุขึ้นแน่ ๆ ดังนั้น เราจึงควรจะมาทำความรู้จักกับของอันตรายในงานก่อสร้างและวิธีป้องกัน ซึ่งมีดังนี้

  • ตกจากที่สูง เช่น ตกจากนั่งร้าน ตกจากอาคาร ตกจากช่องลิฟต์ ซึ่งมีวิธีป้องกันคือ การทำราวกันตกริมอาคาร ปิดกั้นช่องลิฟต์ ทำฝาปิดช่องต่าง ๆ ทำตาข่ายรองรับ ใช้เข็มขัดนิรภัยเมื่อทำงานในที่สูงและทำนั่งร้านให้แข็งแรง                                              
  • ตกน้ำหรือตกรูที่ขุดไว้ เช่น ตกหลุมฐานรากที่มีน้ำท่วมขัง ท่อระบายน้ำ รูเสาเข็มเจาะเป็นต้น โดยมีวิธีป้องกันก็คือ จะต้องมีการติดป้ายเตือนให้เห็นชัดเจนทั้งกลางวันและกลางคืน และทำรั้วกั้น ปิดฝาท่อ หรือรูเสาเข็ม
  • สิ่งของหนักหล่นใส่  เช่น เสาเข็มคอนกรีตล้ม ลูกตุ้มเสาเข็มหล่นทับวัสดุกระเด็นใส่ สิ่งที่จะสามารถป้องกันได้ก็คือ ต้องมีการเก็บกวาดเศษวัสดุบนพื้นทางให้สะอาดอยู่เสมอ และปิดกั้นขอบพื้นริมอาคารเพื่อไม่ให้มีการตกหล่นลงมา 
  • ไฟฟ้าดูด  จากเครื่องผสมปูน เครื่องสูบน้ำ เครื่องเชื่อมโลหะที่สายไฟฟ้ารั่ว หรือจากไฟฟ้าแรงสูงจึงโดยสิ่งที่จะต้องทำเพื่อป้องกันอุบัติเหตุนี้คือ ต้องมีการตรวจสอบสายไฟและอุปกรณ์ก่อนใช้งาน ซึ่งถ้าหากเกิดการลัดวงจร ควรแจ้งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าให้มาหุ้มฉนวนสายไฟฟ้าแรงสูงบริเวณที่จะทำงาน                            
  • แรงสั่นสะเทือนและเสียงดัง เช่น จากการตอกเสาเข็มการกดเข็มพืด และกดปลอกเหล็กของเสาเข็มเจาะด้วยเครื่องกดแบบสั่น เสียงจากเครื่องตอกเสาเข็ม เครื่องขัดโลหะ โดยวิธีที่จะช่วยทำให้ป้องกันอุบัติเหตุแบบนี้ได้คือ ควรใช้แผ่นไม้อัดหรือผ้าใบปิดกั้นเสียง ใช้อุปกรณ์ลดเสียงครอบหรือเสียบหู     
  • อัคคีภัย จากไฟฟ้าลัดวงจร การเชื่อมด้วยแก๊สและไฟฟ้า การสูบบุหรี่หรือวางเพลิง ซึ่งจะมีวิธีป้องกันก็คือ ต้องมีการตรวจสอบการใช้สายไฟและอุปกรณ์ให้มีความถูกต้อง เก็บกวาดเศษวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิง เก็บแก๊สและน้ำมันไว้ในพื้นที่ควบคุม มีเวรยามคอยตรวจสอบความปลอดภัย     
  • เครื่องจักรฉุดลาก เช่น สายพานฉุดลากชายเสื้อที่ปล่อยหลุดรุ่มร่าม ซึ่งอุบัติเหตุนี้จำเป็นที่จะต้องปลูกฝังที่ผู้ปฏิบัติงานในเรื่องของการแต่งกาย หรือการเก็บบางส่วนของร่างกายที่มีโอกาสจะเข้าไปติดกับเครื่องจักรได้
  • การพังทลายของดิน  เช่น ดินปากหลุมพังมาทับคนงาน ซึ่งสามารถป้องกันด้วยการไม่ขุดหลุมลึกเกินไป และควรมีระบบค้ำยันป้องกันดินพัง และควรเคลื่อนย้ายดินปากหลุมออกไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรกองไว้สูงเกินไป 
  • การพังของนั่งร้านและโครงสร้าง  ซึ่งเกิดมาจากการออกแบบที่ไม่แข็งแรงมากพอ ซึ่งมีวิธีการแก้ปัญหาก็คือ การเลือกใช้วัสดุทำนั่งร้านและค้ำยันที่มีสภาพดี แข็งแรง  นอกจากนี้ยังต้องใช้คอนกรีตที่มีส่วนผสมถูกต้องอีกด้วย

พราะฉะนั้นแล้ว ความปลอดภัยในการทำงานกิจการก่อสร้างนั้น เป็นสิ่งที่ควรตระหนักอย่างมาก ทั้งนายจ้างและผู้ปฏิบัติงาน เพราะหากเกิดอันตรายขึ้นภายในกิจการก่อสร้าง ก็จะนำมาซึ่งการสูญเสียชีวิต ไปจนถึงการสูญเสียทรัพย์สินอยู่ไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว ดังนั้นแล้ว มันจึงเป็นสิ่งที่เราควรจะตระหนักไว้อย่างยิ่งนั่นเอง