สุขศาสตร์อุตสาหกรรม Industrial Hygiene การดูและตรวจสอบอาชีวอนามัย

สุขศาสตร์อุตสาหกรรม

สุขศาสตร์อุตสาหกรรม  คืออะไร

สุขศาสตร์อุตสาหกรรม Industrial Hygiene เป็นศาสตร์และศิลป์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแล ตรวจสอบ และปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน โดยครอบคลุม 3 ขั้นตอน คือ การตระหนัก การประเมิน และการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ลักษณะการทำงาน หรืออื่นๆที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน ทำให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความไม่สบายหรือลดประสิทธิภาพในการทำงาน รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อประชาชน ชุมชนที่อยู่บริเวณโดยรอบสถานประกอบการ 

ขอบเขตของงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรม

1. การตระหนัก (Recognition) เป็นการค้นหาหรือบ่งชี้อันตรายจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่อาจคุกคามต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน และยังส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงานของผู้ปฏิบัติงานด้วย ซึ่งนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมจะเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ โดยตัวนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมเองนั้น ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้และความเข้าใจในกระบวนการผลิตต่าง ๆ ในโรงงานหรือสถานประกอบการ นอกจากนี้ยังจะต้องศึกษาเกี่ยวกับสารเคมีที่ใช้และผลิตขึ้น ซึ่งข้อมูลในการชี้บ่งอันตรายนั้นอาจรวบรวมมาจากการสำรวจโรงงาน การสังเกต หรือการสอบถามผู้ปฏิบัติงานและผู้บริหารระหว่างการสำรวจ รวมถึงศึกษาจากเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต ซึ่งปกติแล้วจะอยู่ในคู่มือหรือตำราทางวิชาการเกี่ยวกับการผลิตเฉพาะเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายชื่อสารเคมีและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทั้งหมดควรที่จะมีไว้เพื่อใช้อ้างอิงในระหว่างการประเมินระดับปัญหาสิ่งแวดล้อมในสถานที่ปฏิบัติงาน ในขั้นตอนนี้จะทำให้เราทราบถึงแหล่งกำเนิดมลพิษในสถานประกอบการ ความเป็นพิษของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิต กระบวนการผลิตที่ใช้ในแต่ละขั้นตอนการผลิต รวมถึงมาตรการควบคุมที่ใช้อยู่

โดยในขั้นตอนนี้สามารถทำได้โดยการทบทวนรายงาน (Record review) เช่น รายงานอุบัติเหตุ การบาดเจ็บและการเจ็บป่วยจากการทำงาน ซึ่งจะทำให้สามารถระบุได้ว่ามีสภาพแวดล้อมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายอยู่ในส่วนใดของกระบวนการผลิต และจากการเดินสำรวจเบื้องต้น (Walk through survey) ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในกระบวนการค้นหาสิ่งคุกคามต่อสุขภาพและประเมินความเสี่ยง โดยการเข้าไปในสถานที่ทำงานเพื่อดูว่าผู้ปฏิบัติงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องทำอะไรและทำอย่างไร มีสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างไร โดยใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 พร้อมด้วยกล้องถ่ายรูป และอุปกรณ์ที่ช่วยในการจดบันทึก หรืออาจมีการใช้เครื่องมืออย่างง่ายที่สามารถอ่านค่าโดยตรงร่วมด้วย เพื่อประเมินสภาพปัญหาเบื้องต้น ข้อมูลที่ได้จากขั้นตอนนี้จะนำมาใช้ในการวางแผนการเก็บตัวอย่างอย่างละเอียดต่อไป

2. การประเมิน (Evaluation) เมื่อได้ข้อมูลที่รวบรวมจากขั้นตอนการตระหนักถึงอันตรายจากสิ่งแวดล้อมในการทำงาน โดยอาศัยการศึกษาหรือการสำรวจเบื้องต้นในสถานที่ปฏิบัติงาน เพื่อค้นหาหรือชี้บ่งอันตรายจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่อาจคุกคามต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานแล้ว ก็มาสู่ขั้นตอนการประเมินอันตรายจากสิ่งแวดล้อมในการทำงานเพื่อประเมินระดับของปัญหาที่พบนั้น  ซึ่งในขั้นตอนนี้ตัวผู้ดำเนินการควรมีความเข้าใจในกระบวนการผลิตของโรงงานเป็นอย่างดี เพื่อที่จะได้ทราบถึงแหล่งและต้นตอของปัญหาได้อย่างถูกต้อง รวมถึงยังต้องมีการศึกษาและทำความเข้าใจในประเด็นสำคัญต่างๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางประกอบการพิจารณา เช่น ข้อกำหนดทางกฎหมาย ค่ามาตรฐานต่างๆ จำนวนผู้ปฏิบัติงาน ระยะเวลาการสัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงของผู้ปฏิบัติงาน เป็นต้น 

จากนั้นจึงทำการพิจารณาเลือกเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับประเมินอันตรายจากสิ่งแวดล้อมในการทำงาน โดยทั่วไปแล้วเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินเพื่อให้ทราบระดับอันตรายจากการทำงาน จะมีอยู่ 3 ประเภท คือ เครื่องมือชนิดอ่านค่าโดยตรง (Direct Reading Instrument) เครื่องมือวิเคราะห์แบบต่อเนื่อง (Continuous Monitoring Devices) และเครื่องมือเก็บตัวอย่างเพื่อการส่งวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ (Sample Collection Devices) โดยในการพิจารณาเลือกใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ในการประเมินอันตรายจากสิ่งแวดล้อมในการทำงานนั้น ควรคำนึงถึงความเหมาะสมกับชนิดการวิเคราะห์และข้อมูลที่ต้องการ รวมถึงวิธีการใช้งาน ซึ่งจะต้องง่าย สะดวก มีประสิทธิภาพสูง และเชื่อถือได้ในสภาวะต่างๆ

ก่อนการนำเครื่องมือและอุปกรณ์ในการประเมินอันตรายจากสิ่งแวดล้อมในการทำงานไปใช้ตรวจวัดนั้นต้องทำการสอบเทียบ (Calibration) เครื่องมือก่อนทุกครั้ง เพื่อให้ผลการตรวจวัดและวิเคราะห์มีความถูกต้องแม่นยำซึ่งทำให้ได้ข้อมูลที่ชี้ได้ถึงระดับความเข้มข้นที่แท้จริงของปัจจัยเสี่ยงที่สัมผัส เช่น กรณีการเก็บตัวอย่างก็ต้องทราบอัตราการไหลของอากาศที่เก็บและระยะเวลาที่เก็บ ซึ่งต้องมีการปรับความถูกต้อง แม่นยำของเครื่องมือตรวจหรือเก็บตัวอย่าง โดยการใช้อุปกรณ์วัดการไหลของอากาศ (Flow–rate Meter) แบบมาตรฐานทั้งก่อนและหลังการใช้ภาคสนามเสมอ ส่วนเครื่องมือแบบอ่านค่าโดยตรงและหลอดตรวจวัดก๊าซต่าง ๆ ก็จะต้องสอบเทียบโดยเทียบกับค่าความเข้มข้นของสารที่เตรียมขึ้นนั้น เป็นต้น

สำหรับปัจจัยเสี่ยงบางประเภทไม่สามารถทำการวิเคราะห์ผลได้ทันที จำเป็นต้องมีการส่งตัวอย่างที่ทำการเก็บไว้ไปวิเคราะห์ต่อยังห้องปฏิบัติการ ดังนั้นผู้ทำการตรวจวัดและเก็บตัวอย่างต้องมั่นใจว่าได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างอย่างถูกต้องและมีปริมาณตัวอย่างที่เพียงพอ พร้อมทั้งสามารถรักษาสภาพของตัวอย่างที่เก็บได้อย่างเหมาะสมก่อนที่จะส่งให้นักวิเคราะห์ต่อไป เพื่อให้ผลการตรวจวิเคราะห์มีความถูกต้องแม่นยำที่สุด

หลังจากที่ทราบค่าของปัจจัยเสี่ยงในสภาพแวดล้อมการทำงานแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการนำค่าที่ตรวจวิเคราะห์ได้นั้นไปเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานตามกฎหมายเพื่อประเมินว่าปัจจัยเสี่ยงในสภาพแวดล้อมในการทำงานนั้นเกินค่ามาตรฐานหรือไม่ เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของผู้ปฏิบัติงานหรือไม่ โดยต้องนำข้อมูลของบุคคลร่วมพิจารณาด้วย เช่น เพศ อายุ น้ำหนัก อายุงาน ระยะเวลาการทำงาน การใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) เป็นต้น และอาจนำไปเปรียบเทียบกับผลการตรวจวิเคราะห์ของครั้งที่ผ่านมาเพื่อประเมินระบบการควบคุมและป้องกันว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่เพื่อนำไปสู่การแก้ไขและปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไป

3. การควบคุม (Control)  ถ้าผลการตรวจวัดและวิเคราะห์ที่ได้จากขั้นตอนการประเมินเกินค่ามาตรฐานหรือมีค่าสูงเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน ต้องมีการจัดมาตรการเพื่อลดหรือกำจัดอันตรายเหล่านั้น โดยการจัดทำเป็นแผนงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและจัดทำโครงการย่อยต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานที่มีปัจจัยเสี่ยงเกินค่ามาตรฐานนั้น เช่น โครงการอนุรักษ์การได้ยิน การจัดหาอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลให้กับพนักงานสวมใส่ขณะปฏิบัติงาน การอบรบให้ความรู้ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับอันตรายจากการทำงาน หรืออาจจัดทำป้ายหรือสัญลักษณ์สื่อสารความเป็นอันตรายให้ผู้ปฏิบัติงานทราบ เป็นต้น

การควบคุมอันตรายจากสิ่งแวดล้อมในการทำงานมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ผลจากการเลือกใช้วิธีที่เหมาะสมจะเป็นการช่วยลดโอกาสที่จะเกิดปัญหาจากอันตรายที่จะคุกคามสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานลงได้ โดยทั่วไปแล้ว มาตรการหลักๆ ที่ใช้ควบคุมอันตรายจากสิ่งแวดล้อมในการทำงานคือการควบคุมที่แหล่งกำเนิด การควบคุมที่ทางผ่าน และการควบคุมที่ตัวผู้ปฏิบัติงาน ดังนี้

(1) การควบคุมที่แหล่งกำเนิด (Source Controls) เป็นการควบคุมไม่ให้สารที่เป็นพิษหรือสิ่งคุกคามต่อสุขภาพอนามัยของผู้ปฏิบัติงานแพร่กระจายออก ไปสู่บรรยากาศการทำงาน 

– การเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตหรือขั้นตอนการทำงาน เช่น ในการชุบสีแทนการพ่นสีเพื่อลดการฟุ้งกระจายของสารเคมีในบรรยากาศ การใช้กระบวนการผลิตแบบระบบเปียกเพื่อลดการเกิดฝุ่นฟุ้งกระจายในอากาศ

– การติดตั้งระบบระบายอากาศเฉพาะที่ อาศัยหลักการดูดระบายมลพิษ พร้อมทั้งอากาศที่ถูกปนเปื้อนออกจากบริเวณที่เป็นจุดกำเนิดโดยตรง ก่อนที่มลพิษนั้นจะเข้าปนเปื้อนกับอากาศส่วนใหญ่ของห้อง ทั้งนี้ด้วยการทำงานของระบบระบายอากาศ ซึ่งประกอบไปด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ส่วนคือ ท่อดูดอากาศ ท่อลม และพัดลมระบายอากาศ 

– การใช้สารที่มีความเป็นพิษน้อยกว่า  เป็นวิธีการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ โดยการใช้สารที่ไม่เป็นพิษหรือสารที่มีพิษน้อยกว่าแทนสารที่มีพิษมาก เช่น ใช้ Xylene แทน Benzene การใช้ Calcium Silicate และ Mineral Wool แทนแอสเบสตอส รวมถึงการเปลี่ยนตัวทำละลายสำหรับล้างไขมัน คาร์บอนเตทตระคลอไรด์ ซึ่งมีพิษมากไปเป็นเปอร์คลอโรเอททิลีนและไตรคลอโรเอททิลีน เป็นต้น

– การแยกหรือการปิดคลุมกระบวนการผลิต เช่น การแยกกระบวนการผลิตที่มีอันตรายมากออกจากบริเวณที่มีผู้ปฏิบัติงาน การสร้างห้องปิดกั้นเครื่องจักรหรือกระบวนการผลิตที่มีอันตราย การติดตั้งฉากกั้น แผ่นดูดซับเสียง ม่านน้ำ การติดตั้งแผ่นรองเพื่อลดความสั่นสะเทือนที่ฐานเครื่องจักรที่มีความสั่นสะเทือน

– การใช้เครื่องจักรอัตโนมัติแทนการใช้แรงงานจากผู้ปฏิบัติงานเพื่อป้องกันการสัมผัสปัจจัยเสี่ยงของผู้ปฏิบัติการเหล่านั้น

(2) การควบคุมที่ทางผ่าน (Path Controls)

– การระบายอากาศแบบทั่วไป (General Ventilation) หรือแบบเจือจาง (Dilution Ventilation) เป็นการระบายอากาศเพื่อลดความเข้มข้นของมลพิษที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศภายในสถานที่ปฏิบัติงาน โดยการทำให้เจือจางลงด้วยอากาศบริสุทธิ์จากภายนอก จนกระทั่งมลพิษดังกล่าวมีความเข้มข้นให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือไม่ทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ เช่น กลิ่นอันไม่พึงประสงค์ นอกจากนี้ การระบายอากาศแบบทั่วไปหรือแบบเจือจางยังใช้ได้ดีในการป้องกันและควบคุมปัญหาเกี่ยวกับความชื้น ความร้อนและอันตรายจากการระเบิดเนื่องจากสารเคมีบางประเภทอีกด้วย

– การเพิ่มระยะห่างระหว่างแหล่งกำเนิดกับผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้สิ่งปนเปื้อนหรืออันตรายนั้นเจือจางลงไปก่อนที่จะมาถึงตัวผู้ปฏิบัติงาน

– การตรวจวัดสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อเป็นการเฝ้าระวังไม่ให้สิ่งปนเปื้อนในบรรยากาศสูงเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ 

– การติดตั้งสัญญาณเตือนภัย เพื่อแจ้งเตือนในกรณีที่มีสิ่งปนเปื้อนในบรรยากาศสูงเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้

(3) การควบคุมที่ตัวผู้ปฏิบัติงาน (Receiver Controls) เป็นการควบคุมไม่ให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับอันตรายจากการสัมผัสกับสารที่เป็นพิษจนเกิดความเจ็บป่วย

– การใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment: PPE) เพื่อลดการรับสัมผัสกับปัจจัยเสี่ยง

– การอบรมให้ความรู้ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับอันตรายจากปัจจัยเสี่ยงนั้น เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความตระหนักถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นทำให้ผู้ปฏิบัติงานให้ความสำคัญกับการทำงานอย่างปลอดภัย สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลทุกครั้งตลอดระยะเวลาการทำงาน

– การตรวจสุขภาพผู้ปฏิบัติงาน เพื่อเป็นการเฝ้าระวังภาวะสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน โดยต้องทำการตรวจเป็นประจำและต่อเนื่อง 

– การบริหารจัดการด้านการทำงาน เช่น การหมุนเวียนการทำงาน การลดระยะเวลาการทำงาน เพื่อลดระยะเวลาในการสัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงนั้น

สำหรับนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมยุคใหม่อาจมีการเพิ่มอีกหนึ่งขั้นตอน คือ ขั้นตอนการคาดเดาปัญหา (Anticipation) เป็นการคาดเดาเพื่อประเมินปัญหาปัญญหาเบื้องต้นก่อนที่จะเกิดปัญหานั้นขึ้น โดยใช้ประสบการณ์ส่วนตัวของผู้คาดเดา ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นก่อนขั้นตอนการตระหนัก จึงอาจกล่าวได้ว่าขั้นตอนในการดำเนินการทางสุขศาสตร์อุตสาหกรรมสำหรับนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมยุคใหม่ คือ AREC 

ประเภทของสิ่งคุกคามทางสุขศาสตร์อุตสาหกรรม

1. สิ่งคุกคามทางกายภาพ (Physical hazards) คือ สิ่งคุกคามที่เป็นพลังงานทางฟิสิกส์ ซึ่งมีคุณสมบัติทำให้เกิดโรคในคนได้ เช่น อุณหภูมิ(ความร้อน+ความเย็น) ความดันบรรยากาศ ความสั่นสะเทือน เสียงดัง แสง รังสี เป็นต้น

2. สิ่งคุกคามทางเคมี (Chemical hazards) คือ สิ่งคุกคามที่เป็นสารเคมีทุกชนิดซึ่งมีสมบัติเป็นพิษต่อคนได้ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะแก็ส ของเหลว หรือของแข็งก็ตาม ทั้งที่เป็นธาตุและที่เป็นสารประกอบ ทั้งที่เป็นสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ ตัวอย่างเช่น สารตะกั่ว สารปรอท สารหนู ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า แก็สคาร์บอนมอนอกไซด์ แก็สไข่เน่า แก็สคลอรีน เป็นต้น รวมไปถึงฝุ่นและเส้นใย

ฝุ่น (Dust) ประกอบด้วยสารที่เป็นของแข็งที่ฟุ้งกระจายในอากาศ เกิดจากการตัด การกด การบด การทุบ การระเบิดหิน ในทางสุขศาสตร์อุตสาหกรรมฝุ่นแบ่งออกเป็น 2 ชนิดด้วยกัน คือ ฝุ่นรวมทุกขนาด (Total dust) ซึ่งมีขนาดอนุภาคใหญ่กว่า 10 ไมครอนขึ้นไป โดยส่วนใหญ่จะติดค้างอยู่ที่ทางเดินหายใจส่วนต้นด้วยการกรองจากขนจมูก และฝุ่นขนาดเล็กที่สามารถเข้าไปสะสมอยู่ในถุงลมปอดได้ (Respirable dust) ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 10 ไมครอนลงไป ซึ่งจะสามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจส่วนปลายและสะสมอยู่ภายในถุงลมปอด

ฟูม (Fume) เป็นอนุภาคของแข็งที่เกิดจากการควบแน่นของสารที่อยู่ในสถานะที่เป็นก๊าซ โดยทั่วไปสารนั้นๆ จะอยู่ในสถานะของแข็งที่อุณหภูมิห้อง เมื่อได้รับความร้อนก็จะระเหยและจะควบแน่นทันที ตัวอย่างฟูมที่พบในการทำงาน ได้แก่ ฟูมของตะกั่วออกไซด์ ฟูมของเหล็กออกไซด์

ละออง (Mist) เป็นหยดของเหลวที่แขวนลอยในอากาศ เกิดจากการควบแน่นของสารจากสถานะที่เป็นก๊าซ มาเป็นสถานะที่เป็นของเหลว ตัวอย่างเช่น ละอองของสารฆ่าแมลงที่เกิดจากการฉีดพ่น

ก๊าซ (Gas) เป็นสสารที่มีรูปร่างไม่แน่นอน เมื่อสสารอยู่ในภาชนะใดอนุภาคของสสารจะฟุ้งกระจายเต็มภาชนะ สามารถเปลี่ยนสถานะได้จากการเพิ่มความดันและลดอุณหภูมิ

ไอระเหย (Vapor) หมายถึง สถานะที่เป็นก๊าซของสารที่เป็นของแข็งหรือของเหลวที่อุณหภูมิและความดันปกติ เปลี่ยนสถานะได้โดยการเพิ่มความดันหรือลดอุณหภูมิ

เส้นใย (Fiber) อนุภาคของแข็งที่มีรูปร่างยาวและบาง ตัวอย่างเช่น แร่ใยหินหรือแอสเบสตอสและฝุ่นหินที่มีซิลิก้าปนอยู่

หมอกควัน (Smog) เป็นคำที่มาจากคำว่า ควัน (Smoke) และหมอก (Fog) รวมกัน ใช้ในการอธิบายสภาวะมลพิษทางอากาศที่เกิดจากสภาวะอากาศเย็นที่มีหมอก เกิดการปนเปื้อนกับกลุ่มควันที่ปล่อยออกจากแหล่งกำเนิดประเภทต่างๆ

3. สิ่งคุกคามทางชีวภาพ (Biological hazards) คือ สิ่งคุกคามที่เป็นสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเชื้อจุลินทรีย์ แมลง หรือสัตว์ก่อโรค รวมทั้งเนื้อเยื่อหรือสารคัดหลั่งของสิ่งมีชีวิต ที่สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อและเจ็บป่วยได้ เช่น เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า เชื้อวัณโรค เชื้อโรคบิด เชื้ออหิวาห์ เชื้อมาลาเรีย เป็นต้น

4. สิ่งคุกคามทางการยศาสตร์ (Ergonomics hazards) คือ สิ่งคุกคามที่เกิดจากสภาพการทำงานไม่เหมาะสม เช่น ทำงานที่ซ้ำซากจำเจ ทำงานอย่างเร่งรีบ การทำงานเป็นกะ อุปกรณ์ เครื่องจักร เครื่องมือต่างๆมีขนาดไม่เหมาะสมกับขนาดสัดส่วนของร่างกายผู้ปฏิบัติงาน ลักษณะงานที่ทำด้วยท่าทางอิริยาบถที่ฝืนธรรมชาติ เช่น งานที่ต้องมีการบิดโค้งงอของข้อมือ งอแขน การงอศอก การจับ โดยเฉพาะนิ้วมือซ้ำๆ งานที่ต้องก้มศีรษะ ก้มหลัง บิดเอี้ยวตัว เอื้อมหรือยกสิ่งของขึ้นสุดแขน การยกของหนัก นอกจากนี้สิ่งคุกคามประเภทนี้ยังรวมไปถึงสิ่งคุกคามด้านจิตสังคม เช่น  ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน ความสัมพันธ์กับหัวหน้างาน ความเครียดจากการทำงาน ความเมื่อยล้าจากการทำงาน บทบาทหน้าที่ในการทำงานไม่ชัดเจน มีภาระงานให้รับผิดชอบมากเกินไป ไม่มีความก้าวหน้าทางหน้าที่การงาน เป็นต้น 

การเก็บตัวอย่างทางสุขศาสตร์อุตสาหกรรม

หมายถึง การใช้เครื่องมือทางสุขศาสตร์ฯในการเก็บตัวอย่างสภาพแวดล้อมในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านกายภาพ เคมี หรือชีวภาพ โดยเครื่องมือที่ใช้อาจเป็นเครื่องมือที่สามารถอ่านวิเคราะห์ค่าได้โดยตรง หรือเครื่องมือที่ต้องเก็บตัวอย่างมาวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ การเก็บตัวอย่างเป็นขั้นตอนหนึ่งที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากทำให้ทราบถึงแหล่ง ปริมาณ และระดับความรุนแรงของมลพิษในสิ่งแวดล้อมการทำงาน ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดมาตรการควบคุมต่อไป

จรรยาบรรณของนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม

Safety and Health at Work Promotion Association (Thailand) Codes of Ethics for Safety Officer and Personnel Safety officer and personal shall perform duty professionally with the following codes of ethics for gaining acceptance from co-workers, subordinates,superiors, and other concerned people

  • ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีความรับผิดชอบ มีความเป็นอิสระ และด้วยความยุติธรรม
  • ปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายความปลอดภัยขององค์กร กฎระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  • ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการตระหนักในคุณค่าของความปลอดภัย ทั้งต่อตนเอง ผู้ร่วมงานสาธารณชน และทรัพย์สิน
  • ปฏิบัติหน้าที่ในขอบเขตที่ตัวเองมีความรู้ความสามารถ และได้รับมอบหมาย
  • ดำรงไว้ซึ่งความสามารถ และมีความพยายามที่จะขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติม โดยการฝึกอบรมศึกษาต่อ หรือเรียนรู้ด้วยตนเอง
  • ปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีในวิชาชีพ โดยมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติงานตามระเบียบ และมาตรฐานความปลอดภัย
  • ไม่เปิดเผยข้อมูลและเอกสารที่เป็นความลับ ยกเว้นแต่จะต้องให้เปิดเผยตามข้อกำหนดของกฎหมาย
  • ไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการแทรกแซงหรือทำให้ได้มาซึ่งประโยชน์ที่ไม่ควรได้ หรือไม่เป็นธรรม หรือเป็นการเอาเปรียบต่อผู้อื่น
  • หลีกเลี่ยงการมี หรือทำให้ถูกมองว่าน่าจะมี ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ ปฏิบัติต่อทุกคนด้วยความเคารพและมีมารยาท และไม่ดูหมิ่นหรือล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล