ซ่อมแซมหลังเกิดเหตุขัดข้อง (Breakdown Maintenance)

        การบำรุงรักษาแบบแก้ไข ( Breakdown Maintenance :BM) หรือบ้างก็เรียกว่าการบำรุงรักษาหลังเกิดการเสียหายหรือใช้งานจนกระทั่งเสียหายเป็นเทคนิคการบำรุงรักษาที่ง่ายที่สุด แต่ในทุกอุตสาหกรรมยังใช้เทคนิคการบำรุงรักษาแบบนี้อยู่ โดยจะดำเนินการแก้ไขหรือซ่อมแซมสินทรัพย์ก็ต่อเมื่อสินทรัพย์เสียหายจึงทำให้ต้องหยุดการใช้งานสินทรัพย์ เช่น หลอดไฟแสงสว่าง เครื่องจักรในโรงงาน

        วิธีการบำรุงรักษาวิธีนี้ถือได้ว่า เป็นแนวความคิดในการบำรุงรักษาที่เก่าแก่ที่สุด ในตำราบางเล่มให้นิยามวิธีการบำรุงรักษาแบบนี้ว่า  ”ดำเนินการโดยไร้การบำรุงรักษา (no maintenance at all or maintenanceless)”ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่าโดยข้อเท็จจริงแล้วก็คือว่า  บุคลากรในฝ่ายบำรุงรักษาจะไม่ออกไปปฎิบัติงานใดๆ เลยจนกว่าจะมีรายงานว่ามีเครื่องจักรชำรุดจนใช้งานต่อไปไม่ได้ 

       อย่างไรก็ตามการบำรุงรักษาแบบนี้ยังคงมีใช้อยู่กับสถานการณ์บางลักษณะ เช่น  ในเครื่องจักรที่ไม่สลับซับซ้อน  และเมื่อมีชิ้นส่วนอะไหล่พร้อมอยู่เสมอ  หรือสามารถสั่งซื้อได้อย่างทันทีทันใดโดยที่ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการบำรุงรักษาแบบนี้   ควรจะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการประยุกต์ใช้วิธีการบำรุงรักษาวิธีอื่นๆ  ตัวอย่างในการบำรุงรักษาแบบนี้ได้แก่  หลอดไฟฟ้าต่างๆซึ่งจะถูกปล่อยไว้จนกระทั้งหลอดขาด  หรือในกรณีของแผ่นผ้าเบรกรถยนต์ หน้าสัมผัส สลิปลิง เป็นต้น

ข้อดีในการบำรุงรักษาแบบนี้ได้แก่

    • ได้ใช้ประโยชน์จากอายุการใช้งานของเครื่องจักรอย่างคุ้มค่า
    • ไม่ต้องเสียกำลังคนและค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา

ข้อสังเกต  เราไม่สามารถวางแผนและกำหนดเวลาในการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนชิ้นส่วนได้บางครั้งจำเป็นต้องรีบทำงานให้เสร็จจึงทำให้คุณภาพของการซ่อมแซมไม่ดีพอ โดยปกติเมื่อเกิดการเสียหายแล้วมักจะทำให้การเสียหายอย่างรุนแรงเป็นผลให้การซ่อมแซมหรือแก้ไขจะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก มากไปกว่านั้นความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจจะมีผลกระทบกับ ความปลอดภัย สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม

ข้อเสียในการบำรุงรักษาแบบนี้ได้แก่

 1.ไม่มีสัญญาณใดๆ บอกเป็นการเตือนล่วงหน้าเมื่อเครื่องจักรเริ่มชำรุด
 2. ไม่สามารถยอมรับได้ ในระบบที่ต้องการความเชื่อมั่นสูง เช่น  ในอากาศยาน
 3. ต้องเก็บชิ้นส่วนอะไหล่ไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งหมายถึงว่าค่าใช้จ่ายในการเก็บของคงคลังสูง
 4. ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการปฏิบัติตามแผนการผลิตได้ตามประสงค์
 5. ไม่สามารถวางแผนงานในการบำรุงรักษาได้

         การบำรุงรักษาเมื่อเครื่องเกิดชำรุดและต้องหยุดโดยฉุกเฉินวิธีการนี้ แม้ว่าจะเป็นดั้งเดิมในการบำรุงรักษา แต่ยังจำเป็นต้องนำมาใช้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากเครื่องจักรทั้งหลายแม้ว่าจะได้รับการบำรุงป้องกันรักษาเยี่ยมพียงใด ก็ยังมีโอกาสเกิดเหตุเสียโดยฉุกเฉินขึ้นได้ตลอดเวลา เป็นการซ่อมเครื่องจักรหลังจากมีสิ่งขัดข้องเกิดขึ้นกับเครื่องจักรและหยุดโดยฉุกเฉินโดยทั่วไปมักจะใช้กับเครื่องจักรที่ไม่มีความสำคัญต่อการผลิตคุณภาพ การส่งมอบ และความปลอดภัยรอเวลาซ่อมแซมหรือแก้ไขได้อย่างเหมาะสม มีเครื่องจักรหรืออะไหล่สำรองอยู่เสมอ ซึ่งวิธีการนี้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในตรวจสอบ และการบำรุงรักษา แต่ถ้าเลือกใช้การซ่อมเครื่องจักรหลังเกิดเหตุขัดข้อง เพียงอย่างเดียวสำหรับเครื่องจักรทุกประเภท จะทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละครั้งได้