ความปลอดภัยในการทำงาน คืออะไร (Occupational Health and Safety)

ความปลอดภัยในการทำงาน หรือที่นิยมเรียกกันว่า ความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (OHS) ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า “Occupational Health and Safety” เป็นสหสาขาวิชาชีพที่ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพอนามัย และความปลอดภัยของพนักงานในองค์กรให้ปราศจากภัยคุกคาม อันตราย โรคภัย และความเสี่ยงใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงาน

วัตถุประสงค์และขอบเขตการดำเนินงานด้านความปลอดภัยในการทำงาน

คณะกรรมการร่วมระหว่างองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดขอบเขตของการดำเนินงานด้านความปลอดภัยในการทำงานที่ทุกองค์กรควรปฏิบัติตามไว้ 3 ด้าน ดังนี้

  1. ส่งเสริมด้านสุขภาพของพนักงาน

ส่งเสริมด้านสุขภาพร่างกาย จิตใจ และความเป็นอยู่ที่ดีในสังคมของผู้ประกอบอาชีพ โดยกำหนดมาตรการดูแลคนงานและส่งเสริมสุขภาพของคนงานให้มีสุขภาพดีดังเช่นก่อนเข้ามาทำงานในสถานประกอบกิจการ

  1. ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงาน

ปรับปรุงสถานที่ทำงานให้มีความปลอดภัย เพื่อให้พื้นที่การทำงานนั้นเกิดความปลอดภัยมากที่สุด ควบคุมความปลอดภัยในการทำงาน ป้องกันไม่ให้พนักงานมีสุขภาพอนามัยเสื่อมโทรมหรือผิดปกติอันเกิดจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน รวมถึงป้องกันอุบัติเหตุ และความเสี่ยงต่าง ๆ จากการทำงาน ไม่ให้พนักงานได้รับอันตรายที่เกิดขึ้น

  1. เสริมสร้างวัฒนธรรมการควบคุมความปลอดภัยในการทำงาน

ผู้บริหารองค์กรต้องแสดงจุดยืนและส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยในการทำงานภายในองค์กร เพื่อให้พนักงานทุกคนใส่ใจและตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิบัติหน้าที่ที่ถูกต้อง และสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ในทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมความปลอดภัยในการทำงาน รวมถึงเปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนได้มีส่วนร่วม เช่น จัดการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยในการทำงานภายในองค์กร เป็นต้น

อันตรายจากการทำงาน และพื้นฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน

ความปลอดภัยในการทำงาน ถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานที่องค์กรและพนักงานที่ออกปฏิบัติหน้าที่ต้องคำนึงถึงอยู่เสมอ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตที่ซึ่งเต็มไปด้วยความเสี่ยงอันเกิดจากการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นอันตรายอันเกิดจากสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่ปลอดภัย อันตรายจากการทำงานในที่สูง การทำงานในที่แคบหรือพื้นที่อับอากาศ หรือแม้กระทั่งอันตรายอันเกิดจากการเครื่องจักรและกระบวนการผลิต ล้วนแล้วแต่เป็นอันตรายที่ส่งผลต่อสุขภาพและอนามัยในการทำงานของพนักงานได้ทั้งสิ้น โดยอุบัติเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากความผิดพลาดในการทำงาน ความประมาทเลินเล่อ และรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของพนักงานเองด้วย ดังนั้นหากพนักงานทุกคนที่ออกปฏิบัติหน้าที่ได้รับการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยในการทำงาน มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแล้วนั้น โอกาสที่จะประสบอันตรายในขณะทำงานก็ย่อมน้อยลงตามไปด้วย

สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้องค์กรควรจัดอบรมความปลอดภัยในการทำงาน

  1. สภาพแวดล้อมในการทำงาน

สถานที่ทำงาน รวมถึงเครื่องจักร และอุปกรณ์ต่าง ๆ เกิดการชำรุด หรือไม่ปลอดภัยไม่พร้อมต่อการทำงาน

  1. วิธีการทำงานที่ไม่ถูกต้อง

กระบวนการทำงานขาดความถูกต้อง หรือองค์กรไม่มีการสอนงาน หรือคู่มืออบรมขั้นตอนการทำงานที่ถูกต้องให้พนักงาน ไม่มี WI

  1. พนักงานมีความประมาท

ถือเป็นสาเหตุใหญ่ที่ก่อให้เกิดอันตรายจากการทำงานมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการที่พนักงานไม่มีความระมัดระวังในขณะออกปฏิบัติหน้าที่ ทำงานด้วยความประมาทและขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง การมีนิสัยชอบเสี่ยง ทำงานโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในการทำงาน หรือทำงานโดยสภาพร่างกายหรือจิตใจไม่ปกติ ล้วนแล้วแต่สาเหตุอันเกิดจากตัวบุคคลทั้งสิ้น

การป้องกันอุบัติเหตุที่ถูกต้องตามหลักการความปลอดภัยในการทำงาน

วิธีการที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในการควบคุมอันตราย โดยอาศัยหลักการดูแลด้านความปลอดภัยในการทำงานนั้นแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่

  1. จัดการต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ (Source)

การลดหรือขจัดอันตรายออกไปจากการทำงาน ณ จุดกำเนิดอันตราย โดยอาศัยการออกแบบด้านวิศวกรรม เพื่อให้เครื่องจักร กระบวนการผลิต และสภาพแวดล้อมในการทำงานมีความปลอดภัยตั้งแต่ต้น ถือเป็นวิธีป้องกันควบคุมความปลอดภัยในการทำงานที่ดีที่สุด และควรถูกนำมาพิจารณาขึ้นเป็นอันดับแรก อย่างไรก็ตามวิธีนี้ก็มีข้อเสียเช่นเดียวกัน เพราะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก จึงได้รับความนิยมเฉพาะในกลุ่มบริษัทและโรงงานใหญ่เท่านั้น

  1. การป้องกันควบคุมที่ทางผ่าน (Path)

วิธีควบคุมความปลอดภัยในการทำงาน โดยอาศัยการลดอันตรายจากต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุก่อนถึงตัวพนักงาน อาศัยการปรับปรุงสถานที่ในการทำงาน เพื่อตัดแยกให้แหล่งอันตรายกับผู้ปฏิบัติงานแยกออกจากกั้นอย่างสิ้นเชิง เช่น การเพิ่มระยะทางหรือหาสิ่งกำบังมากั้นระหว่างผู้ปฏิบัติงานกับแหล่งกำเนิดอันตราย เป็นต้น

  1. การแก้ไขปัญหาที่ตัวบุคคล (Receiver)

วิธีควบคุมความปลอดภัยในการทำงานที่ง่าย รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายได้ดี แม้ว่าจะไม่ได้กำจัดอันตรายจากจุดกำเนิดอันตรายได้ แต่ก็สามารถลดความเสี่ยงและความเสียหายจากการเกิดอุบัติเหตุได้เป็นอย่างดี โดยวิธีนี้จะอาศัยให้พนักงานสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตราย หรือ อุปกรณ์กู้ภัย ในขณะปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อให้พนักงานปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีสติ และถูกต้องมากที่สุด

ความปลอดภัยในการทำงานไม่เพียงเป็นหน้าที่ของผู้บริหารและองค์กรเท่านั้นที่ต้องให้ความสำคัญ แต่ยังรวมถึงพนักงานทุกคนที่ภายในองค์กรทุกคนต้องร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อปรับปรุง ป้องกัน และควบคุมความปลอดภัยในการทำงาน ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ทำให้สภาพแวดล้อมในการในทำงานมีความปลอดภัย และลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายให้น้อยที่สุด เพื่อที่ทุกคนจะได้ทำงานกันอย่างปลอดภัย และอยู่ร่วมได้อย่างมีความสุข