เรียนรู้ความปลอดภัยของ “สัญลักษณ์ความปลอดภัยเพื่อความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน”

เมื่อต้องทำงานในโรงงาน ไม่ว่าจะอุตสาหกรรมใดก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน โดยทั่วไปแล้วจะทำร่วมกันหลายวิธี แต่การติด “ป้ายสัญลักษณ์” ก็นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของความปลอดภัยเช่นเดียวกัน ป้ายอาจจะเป็นข้อความหรือรูปภาพก็ได้ แต่ต้องสามารถทำให้เข้าใจตรงกันได้ว่าป้ายนั้นๆมีความหมายว่าอย่างไร เมื่อเข้าใจแล้วบุคลากรภายในโรงงานจะได้ปฏิบัติตามกันได้อย่างถูกต้องนั่นเอง

สัญลักษณ์ความปลอดภัยในโรงงาน

ตามประกาศของกรมสวัสดิการฯ เรื่อง สัญลักษณ์เตือนอันตรายฯ ฉบับปีพ.ศ. 2554 กำหนดให้นายจ้างต้องติดป้ายสัญลักษณ์เตือนอันตราย เครื่องหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยอาชีวอนามัยและและสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสมกับลักษณะและสภาพและของงาน โดยต้องติดไว้ในที่ที่มองเห็นได้ง่าย ณ สถานที่ทำงาน ทั้งนี้กรมสวัสดิการไม่ได้กำหนดรายละเอียดของป้ายเอาไว้ แต่สามารถดูรายละเอียดของป้ายได้ที่มาตรฐานอุตสาหกรรม สีและเครื่องหมายความปลอดภัย (มอก.635) เล่มที่ 1 ซึ่งจะมีข้อมูลน่ารู้ดังต่อไปนี้

  • ป้ายพื้นแดงตัดด้วยสีขาว : หมายถึง “หยุด” เช่น หยุดรถ ห้ามจอด เป็นต้น ทั้งนี้สีแดงยังสามารถใช้กับอุปกรณ์ดับเพลิงได้ด้วย
  • ป้ายสีเหลืองตัดด้วยสีดำ : หมายถึง “ระวังอันตราย” เช่น ระวังอันตรายจากสารเคมี ระวังพื้นลื่น เป็นต้น
  • ป้ายสีฟ้าตัดด้วยสีขาว : หมายถึง “การบังคับให้ปฏิบัติ” เช่น ต้องใช้เข็มขัดนิรภัยและเชือกนิรภัย เป็นต้น
  • ป้ายสีเขียวตัดสีด้วยขาว : หมายถึง “สภาวะปลอดภัย” เช่น ทางหนีไฟ ทางออกฉุกเฉิน เป็นต้น

รูปแบบของสัญลักษณ์ความปลอดภัยในโรงงาน

เนื่องจากป้ายเน้นสื่อความหมายที่สามารถเข้าใจได้ง่ายแม้ใช้เวลามองเพียงไม่นาน ดังนั้นข้อมูลบนป้ายจึงปรากกในรูปของสีหรือรูปภาพเป็นหลัก อาจมีข้อความบรรยายอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก ซึ่งป้ายจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มตามวัตถุประสงค์การสื่อความหมายของป้าย หากจะแสดงสัญลักษณ์ก็ต้องวางไว้ที่กลางป้ายเพื่อไม่ให้บดบังเครื่องหมาย ข้อความหรือแถวขวางอื่นๆ ในกรณีที่ไม่มีสัญลักษณ์ที่เหมาะสมให้เลือกใช้ สามารถใช้เครื่องหมายทั่วไปสำหรับเครื่องหมายเพื่อความปลอดภัยแต่ละปนะเภทได้ (ดูที่หนังสือของ มอก. 635 เล่มหนึ่ง ภาคผนวก ก.)

สัญลักษณ์ความปลอดภัยในโรงงานนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น แต่ว่าข้อมูลในบทความนี้เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น หากอยากทราบรายละเอียดทั้งหมด แนะนำให้หา “ข้อกำหนดของมอก. 635 เล่ม 1” มาอ่านกันดู คุณจะได้ข้อมูลสัญลักษณ์ความปลอดภัยที่ถูกต้องและครบถ้วนอย่างแน่นอน