ข้อควรรู้ : ความปลอดภัยในการทำงานบนที่สูง (Working at height)

ตามกฎหมายความปลอดภัยฯในการทำงานระบุไว้ว่า การทำงานบนที่สูง (Working at height) จัดว่าเป็นงานที่เสี่ยงอันตราย โดยเฉพาะสายงานในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างเช่น งานก่อสร้าง งานต่อเติมนั่งร้าน งานติดตั้งและซ่อมบำรุง งานทำความสะอาดเช็ดกระจกบนอาคารสูง เป็นต้น เหล่านี้ล้วนเป็นงานที่เสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีอุบัติเหตุการพลัดตกจากที่สูงขณะทำงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น จึงมีกฎหมายออกมาเพื่อคอยควบคุมและป้องกันผู้ที่ต้องทำงานบนที่สูง โดยประกาศเป็นกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ในสถานที่ที่มีอันตรายจากการตกจากที่สูงและที่ลาดชัน จากวัสดุกระเด็น ตกหล่น และพังทลาย และจากการตกลงไปในภาชนะเก็บหรือรองรับวัสดุ พ.ศ.2564 โดยให้นิยาม ‘การทำงานบนที่สูง’ ว่าคือ การทำงานในพื้นที่ปฏิบัติงานที่สูงจากพื้นดิน หรือพื้นอาคารตั้งแต่ 2 เมตรขึ้นไป ซึ่งลูกจ้างอาจพลัดตกลงมาได้

หนึ่งในข้อกฎหมายตามประกาศดังกล่าวได้กำหนดให้นายจ้างต้องจัดให้มีข้อบังคับและขั้นตอนการทำงาน สำหรับการทำงานในที่สูง หรือที่ลาดชัน ที่อาจมีวัสดุสิ่งของกระเด็น ตกหล่น พังทลาย ทำให้เกิดอันตรายต่อลูกจ้าง โดยอย่างน้อยต้องมีการแจ้งให้ทราบถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น แผนการทำงาน  การป้องกันและควบคุมอันตรายขณะทำงาน รวมถึงต้องมีการจัด อบรมที่สูง ให้ความรู้ก่อนเริ่มงาน ควบคุมให้ลูกจ้างปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด และต้องมีสำเนาเอกสารไว้สำหรับให้ลูกจ้างได้ตรวจเช็คความปลอดภัยทุกครั้งที่ทำงาน

ทั้งนี้ ในระดับสากลหลายๆ ประเทศเองก็ได้มีการกำหนดมาตรฐานการทำงานบนที่สูงนี้ไว้เช่นกัน อย่างเช่น

  • มาตรฐานขององค์การมาตรฐานสากล (International Standardization and Organization : ISO
  • มาตรฐานสหภาพยุโรป (European Standards : EN)
  • มาตรฐานประเทศออสเตรเลีย และประเทศนิวซีแลนด์ (Australia Standards/New Zealand Standards : AS/NZS)
  • มาตรฐานสถาบันมาตรฐานแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา (American National Standards Institute : ANSI)
  • มาตรฐานอุตสาหกรรมประเทศญี่ปุ่น (Japanese Industrial Standards : JIS)
  • มาตรฐานสถาบันความปลอดภัยและอนามัยในการทํางานแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา (The national Institute for Occupational Safety and Health : NIOSH)
  • มาตรฐานสํานักงานบริหารความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ กรมแรงงาน ประเทศสหรัฐอเมริกา (Occupational Safety and Health Administration : OSHA)
  • มาตรฐานสมาคมป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Fire Protection Association : NFPA)

ทำงานบนที่สูงอย่างไรให้ปลอดภัย

การทำงานบนที่สูงมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ทุกขณะ โดยเฉพาะการพลัดตกจากที่สูง ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากหลายๆ สาเหตุ ส่งผลให้เป็นอันตรายต่อร่างกายหรือชีวิตของคนทำงานได้ ดังนั้นแล้ว ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบทำงานบนที่สูงจำเป็นจะต้องมีทักษะต่างๆ ในการทำงานบนที่สูง อาทิเช่น การเลือกใช้อุปกรณ์คุ้มครองภัยส่วนบุคคล, อุปกรณ์ป้องกันการตก, เทคนิคและขั้นตอนทำงานบนที่สูง รวมไปถึงต้องจัดทำแผนฉุกเฉินในการทำงาน และการกู้ภัยบนที่สูงเมื่อเกิดอุบัติเหตุ โดยทักษะเหล่านี้จะสามารถช่วยป้องกันและเพิ่มความปลอดภัยขณะทำงานได้

นอกจากนี้ ยังต้องหมั่นทดสอบและตรวจเช็คอุปกรณ์ป้องกันการตกเป็นประจำ เพื่อให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเมื่อเกิดกรณีฉุกเฉิน และควรตรวจสอบสภาพความความแข็งแรงของราวบันไดอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ที่สำคัญคนงานจะต้องได้รับคำแนะนำและการแจ้งเตือนอย่างครบถ้วนชัดเจน ด้วยการติดตั้งป้ายเฝ้าระวังอันตรายตามจุดต่างๆ เพื่อกันไม่ให้ผู้ที่ไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบเข้าไปในพื้นที่อันตราย (บนที่สูง) จนอาจเกิดการผลัดตกลงมาได้

อุปกรณ์เซฟตี้สำหรับผู้ทำงานบนที่สูง

สำหรับการทำงานบนที่สูง นอกเหนือจากทักษะและความชำนาญในการทำงานแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้การทำงานมีความปลอดภัยนั่นก็คืออุปกรณ์เซฟตี้ต่างๆ โดยอุปกรณ์ที่คนทำงานบนที่สูงจำเป็นจะต้องมีได้แก่

  1. หมวกนิรภัย – อุปกรณ์สำหรับป้องกันศีรษะจากการกระแทกของวัตถุสิ่งของต่างๆ ที่อาจร่วงตกหรือหล่นลงมาขณะทำงาน
  2. แว่นตานิรภัย – อุปกรณ์สำหรับป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมต่างๆ เข้าสู่ดวงตา เช่น ฝุ่นละออง, เศษไม้, สารเคมี เป็นต้น
  3. ถุงมือนิรภัย – อุปกรณ์สำหรับป้องกันมือจากการสัมผัสสิ่งต่างๆ ที่อาจทำอันตรายได้ เช่น สารเคมี, ของมีคม, ไฟฟ้าสถิต เป็นต้น
  4. อุปกรณ์ป้องกันการตกจากที่สูง – สำหรับช่วยป้องกันการผลัดตกจากที่สูง ได้แก่ เข็มขัดนิรภัย (Safety Belt), สายรัดตัวนิรภัย (Safety Harness), เชือกนิรภัย (Lanyards) และสายช่วยชีวิต (Lifelines) เป็นต้น
  5. อุปกรณ์ป้องกันเสียงดัง – สำหรับลดระดับเสียงดังจากสภาพแวดล้อมการทำงานให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย เพื่อไม่ให้สูญเสียสมรรถภาพการได้ยินขณะทำงาน ได้แก่ ที่อุดหู (Ear Plugs) และ ที่ครอบหู (Ear Muffs)
  6. ชุดสะท้อนแสง – สำหรับสวมใส่ขณะทำงานเพื่อให้จุดสังเกตและมองเห็นได้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น หมวก เสื้อกั๊ก และกางเกง
  7. กางเกงนิรภัย – กางเกงที่ออกแบบมาสำหรับใส่ทำงานประเภทต่างๆ เพื่อช่วยป้องกันหรือบรรเทาการบาดเจ็บจากการทำงาน เช่น กางเกงป้องกันเลื่อยยนต์ (Chaps Pants Chainsaw)
  8. รองเท้านิรภัย – รองเท้าที่ออกแบบมาเพื่อความปลอดภัยของเท้าขณะทำงาน เช่น ป้องกันการกระแทกของแข็ง, กันลื่น, ป้องกันความร้อน, ป้องกันไฟดูดไฟช็อต เป็นต้น โดยถูกแบ่งออกตามประเภทการใช้งาน และผลิตจากวัสดุที่แตกต่างกันไป

รองเท้านิรภัยกับการทำงานบนที่สูง

รองเท้านิรภัย หรือ รองเท้าเซฟตี้ เป็นรองเท้าที่ถูกออกแบบและผลิตขึ้นมาสำหรับสวมใส่ทำงานประเภทต่างๆ ในบริเวณเสี่ยงอันตราย เช่น งานดับเพลิง งานก่อสร้าง งานไฟฟ้า งานขุดเจาะ งานควบคุมเครื่องจักร เป็นต้น ซึ่งนอกเหนือจากความทนทานแล้ว รองเท้าเซฟตี้แต่ละแบบยังมีคุณพิเศษในการป้องกันเท้าจากอันตรายหรืออุบัติเหตุต่างๆ ขณะทำงานด้วย โดยสามารถแบ่งตามคุณสมบัติได้ดังนี้

  • ป้องกันการเจาะทะลุจากของวัตถุมีคม

เป็นรองเท้าเซฟตี้ที่มีพื้นหนา หรืออาจมีการเสริมวัสดุต่างๆ เข้าไปที่พื้นเพื่อเพิ่มความแข็งแรง สามารถช่วยป้องกันการเจาะของตะปู ลวด หรือวัตถุมีคมอื่นๆ ได้

  • ป้องกันของหนักตกใส่เท้า

เป็นรองเท้าเซฟตี้ที่ออกแบบหัวรองเท้าให้สามารถรองแรงรับกระแทกได้เป็นอย่างดี เพื่อปกป้องเท้าไม่ให้บาดเจ็บจากการที่วัตถุตกใส่ (มาตรฐานกำหนดไว้ที่ 20 กิโลกรัมจากความสูง 1 เมตร) หรืออุบัติเหตุการเดินชนวัตถุต่างๆ

  • ป้องกันการตัดเฉือน

เป็นรองเท้าเซฟตี้ที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันอุบัติเหตุเท้าจากการบาดหรือเฉือนด้วยของมีคมขณะทำงาน เนื่องจากงานบางประเภทต้องเกี่ยวข้องกับการใช้งานของมีคม ซึ่งอาจทำอันตรายเท้าได้

  • ป้องกันกระแสไฟฟ้า

เป็นรองเท้าเซฟตี้ที่ผลิตจากยาง หนังแท้ หรือวัสดุอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติเป็นฉนวนกันไฟฟ้า รวมถึงวัสดุในการตัดเย็บก็จะต้องไม่นำไฟฟ้า เพื่อป้องกันอันตรายจากการถูกไฟดูดหรือช็อต

  • ป้องกันความร้อน

เป็นรองเท้าเซฟตี้ที่สามารถป้องกันความร้อนสูงได้ โดยพื้นกับตัวรองเท้าอาจแยกกัน เพื่อไม่ให้เท้าได้รับอันตรายจากน้ำร้อนหรือวัตถุติดไฟที่ตกอยู่ตามพื้น

  • ช่วยกันลื่น

เป็นรองเท้าเซฟตี้ที่ออกแบบมาให้มีพื้นหนา ขรุขระ และดอกยางที่ลึก จึงทำให้มีคุณสมบัติในการยึดเกาะได้ดี และยังช่วยป้องกันการลื่นไถลอีกด้วย

สำหรับการทำงานบนที่สูง รองเท้าเซฟตี้ที่เหมาะกับการทำงานก็คือ รองเท้าที่มีคุณสมบัติกันลื่นและยึดเกาะพื้นได้เป็นอย่างดี เพื่อป้องกันอุบัติเหตุการผลัดตกจากที่สูงขณะทำงาน โดยเกณฑ์ในการเลือกรองเท้านั้นควรเลือกที่มีขนาดและสรีระที่พอดีกับรูปเท้า ไม่หลวมหรือคับจนเกินไป สวมใส่แล้วสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องตัว ที่สำคัญควรเป็นรองเท้าที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานสากล ซึ่งได้แก่ EN345 และ ANSI Z41.1 (เกณฑ์นี้ใช้ได้กับการเลือกรองเท้าเซฟตี้ในการทำงานรูปแบบอื่นๆ ด้วย) ทั้งนี้ ก็เพื่อการสวมใส่ที่คล่องตัวและสบายเท้า รวมถึงการปกป้องเท้าจากอันตรายที่ได้ประสิทธิภาพ