อุปกรณ์ PPE

อุปกรณ์นิรภัยส่วนบุคคล หรือ อุปกรณ์ PPE

อุปกรณ์นิรภัย หรือ อุปกรณ์ป้องกัน เป็นอุปกรณ์อันเป็นที่นิยมในงานอุตสาหกรรม หรืองานก่อสร้าง ซึ่งจะช่วยทำให้เราสามารถปลอดภัยในระหว่างทำงานได้ ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวนี้ก็ได้เริ่มพัฒนามาอย่างยาวนาน เพื่อที่จะทำให้อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถสร้างความปลอดภัยได้อย่างถาวร โดยทั่วไปจะยึดหลักการป้องกัน ควบคุมสิ่งแวดล้อมการทำงานก่อน และหนึ่งในอุปกรณ์ที่ใช้สร้างความปลอดภัยได้อย่างดี ก็คือ อุปกรณ์ PPE

อุปกรณ์นิรภัยส่วนบุคคลหรืออุปกรณ์ PPE คืออุปกรณ์สำหรับผู้ปฏิบัติงานได้สวมใส่ขณะทำงานเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากสภาพและสิ่งแวดล้อมการทำงานเช่นเสียงดังแสงสารเคมีความร้อนการตกจากที่สูงวัสดุกระเด็นเข้าตาวัสดุหล่นกระแทกหรือทับเป็นต้น

ซึ่งประเภทของอุปกรณ์ PPE สามารถแบ่งออกได้ดังนี้

1. อุปกรณ์ป้องกันเท้า จะใช้สวมใส่เพื่อป้องกันส่วนของเท้า เพื่อไม่ให้สัมผัสกับอันตรายจากการปฏิบัติงาน ซึ่งมีอยู่หลายชนิด ได้แก่

  • รองเท้านิรภัย สามารถรับน้ำหนักได้ 2,500 ปอนด์ และทนแรงกระแทกของวัตถุหนัก 50 ปอนด์ เหมาะสำหรับใช้ในงานก่อสร้าง อุตสาหกรรมอื่นๆ
  • รองเท้าชนิดหุ้มข้อและเป็นฉนวนที่ดี ใช้สำหรับงานไฟฟ้าหรืองานที่อาจมีอันตรายจากการกระเด็นของเศษวัสดุ
  • รองเท้าป้องกันสารเคมี ทำจากวัสดุที่ทนต่อการกัดกร่อนของสารเคมี เช่น ไวนิล    นีโอพรีน ยางธรรมชาติ หรือยางสังเคราะห์ แบ่งเป็นชนิดที่มีหัวโลหะ และไม่มีหัวโลหะ
  • รองเท้าหุ้มแข้ง เป็นรองเท้าที่ออกแบบสำหรับป้องกันอันตรายจากการทำงานที่มีความร้อนจากการถลุงหรือหลอมโลหะหรืองานเชื่อมต่าง ๆ ซึ่งคุณสมบัติของมัน ยังต้องสวมใส่สะดวกและถอดได้ง่ายรวดเร็วในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
  • รองเท้าพื้นโลหะที่ยืดหยุ่นได้ ใช้สำหรับงานก่อสร้าง เพื่อป้องกันการกระแทก 
  • รองเท้าพื้นไม้ เหมาะสำหรับการใช้งานในสถานที่ทำงานที่พื้นเปียกชื้นตลอดเวลาหรือมีความร้อน

2. อุปกรณ์ป้องกันศีรษะ สวมไว้เพื่อป้องกันศีรษะจากการถูกชนหรือกระแทก หรือวัตถุตกจากที่สูงกระทบต่อศีรษะ ได้แก่ หมวกนิรภัย มี 2 ชนิด คือ ชนิดที่มีขอบหมวกโดยรอบ และชนิดที่มีเฉพาะกระบังด้านหน้า และยังมีส่วนประกอบดังนี้

  • ตัวหมวก ทำมาจากพลาสติก โลหะ หรือ ไฟเบอร์กลาส
  • สายพยุง ได้แก่ สายรัดศีรษะ และสายรัดด้านหลังศีรษะ ซึ่งสามารถปรับให้เหมาะสมกับผู้สวมใส่ได้ด้วย
  • สายรัดคาง คือ สายรัดใต้คางเพื่อให้กระชับยิ่งขึ้น
  • แผ่นซับเหงื่อ ทำมาจากใยสังเคราะห์ใช้สำหรับซับเหงื่อและให้อากาศผ่านได้

นอกจากนั้น ยังสามารถแบ่งหมวกนิรภัยได้ตามคุณสมบัติของการใช้งานได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้

  • ประเภท A เหมาะสำหรับการใช้งานทั่วไป เช่น งานก่อสร้าง งานอื่นเพื่อป้องกันวัตถุ หรือของแข็งหล่นกระแทกศีรษะ 
  • ประเภท B เหมาะสำหรับการใช้งานที่เกี่ยวข้องกับสายไฟแรงสูง 
  • ประเภท C เหมาะสำหรับงานที่ต้องทำในบริเวณที่มีอากาศร้อน
  • ประเภท D เหมาะสำหรับงานดับเพลิง 

3. อุปกรณ์ป้องกันใบหน้าและตา ป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น จากวัตถุ สารเคมีกระเด็นเข้าตา หรือใบหน้า ซึ่งจะแบ่งออกได้หลายชนิด เช่น

แว่นตานิรภัย มี 2 แบบ คือ

  • แบบไม่มีกระบังข้าง 
  • แบบมีกระบังข้าง

แว่นครอบตา เป็นอุปกรณ์ป้องกันตา ที่มีที่ปิดครอบตาไว้

แว่นครอบตาป้องกันวัตถุกระแทก เหมาะสำหรับงานสกัด งานเจียระไน

แว่นครอบตาป้องกันสารเคมี โดยเลนส์ของแว่นชนิดนี้ จะต้านทานต่อแรงกระแทก และสารเคมีได้ดี

แว่นครอบตาสำหรับงานเชื่อมป้องกันแสง รังสี ความร้อน และสะเก็ดไฟจากงานเชื่อมตัดโลหะ

กระบังป้องกันใบหน้า เป็นวัสดุโค้งครอบใบหน้า เพื่อป้องกันอันตรายต่อใบหน้า และลำคอ จากการกระเด็น กระแทกของวัตถุ หรือสารเคมี

หน้ากากเชื่อม เป็นอุปกรณ์ป้องกันใบหน้า และดวงตา ซึ่งใช้ในงานเชื่อม เพื่อป้องกันการกระเด็นของโลหะ ความร้อน แสงจ้า และรังสีจากการเชื่อม

ครอบป้องกันหน้า เป็นอุปกรณ์ปกคลุมศีรษะ ใบหน้า และคอ ลงมาถึงไหล่ และหน้าอก เพื่อป้องกันสารเคมี ฝุ่น ที่เป็นอันตราย โดยแบ่งออกเป็นมี 2 ส่วนคือ ตัวครอบ และเลนส์ นอกจากนี้ยังแบ่งออกเป็น      2 ชนิด คือ ชนิดมีไส้กรองสารเคมี และชนิดไม่มีไส้กรองสารเคมี และอาจจะมีการติดหมวกนิรถัยมาด้วย เพื่อป้องกันอันตรายที่ศีรษะ

4. อุปกรณ์ป้องกันหู เป็นอุปกรณ์ที่สวมใส่ เพื่อป้องกันเสียงที่ดังที่จะมากระทบต่อหู เพื่อป้องกันอันตรายที่มีต่อระบบการได้ยิน แบ่งตามลักษณะการใช้งานได้ดังนี้

ที่อุดหู เป็นวัสดุที่ทำมาจากยางพลาสติกอ่อน ขี้ผึ้ง และฝ้าย หรือสาลี ที่จะถูกออกแบบให้มีขนาดพอเหมาะกับรูหู เพื่อให้สามารถป้องกันเสียงได้ดี แต่ก็มีข้อเสียคืออาจทำให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวของหูได้ นอกจากนี้ วัสดุที่นำมาใช้ทำที่อุดหูยังมีความแตกต่างกันในเรื่องของการช่วยลดความดังของเสียง ดังนี้

  • สำลีหรือฝ้ายธรรมดาช่วยลดความดังของเสียงได้ 8 เดซิเบล
  • อะคริลิค (acrylic) จะช่วยลดความดังได้ 18 เดซิเบล
  • ใยแก้ว ช่วยลดความดังของเสียงได้ 20 เดซิเบล
  • ยางซิลิโคน (silicon rubber) ช่วยลดความดังได้ 15-30 เดซิเบล
  • ยางอ่อนและยางแข็ง ช่วยลดความดังของเสียงได้ 18-25 เดซิเบล

ที่ครอบหู มีลักษณะคล้ายหูฟัง โดยมีก้านโค้งครอบศีรษะและใช้วัสดุที่มีความนุ่มหุ้มทับอีกชั้น โดยจะถูกออกแบบให้มีความแตกต่างกันตามลักษณะของการใช้งาน ซึ่งจะประกอบด้วยวัสดุป้องกันเสียง อยู่ภายในที่ครอบหู ส่วนตัวรองรอบนอกนั้นอาจจะบุด้วยโฟม พลาสติก ยางหรือบรรจุของเหลวไว้ เพื่อช่วยดูดซับเสียง ซึ่งที่ครอบหูแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ชนิดที่ใช้กับงานหนักความดังเสียงมากจะช่วยลดความดังได้ประมาณ 40 เดซิเบล และชนิดปานกลางจะช่วยลดความดังได้ประมาณ 35 เดซิเบล ชนิดใช้ในงานเบาจะช่วยลดความดังได้ประมาณ 30 เดซิเบล

5. อุปกรณ์ป้องกันการหายใจ เป็นอุปกรณ์ช่วยป้องกันอันตราย เพื่อป้องกันไม่ให้มลพิษลงไปในปอดได้ โดยแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ

  • ประเภทที่ทำให้อากาศปราศจากมลพิษ ก่อนที่จะเข้าสู่ทางเดินหายใจได้แก่

หน้ากากกรองอนุภาค ทำหน้าที่กรองอนุภาคที่แขวนลอยในอากาศ ซึ่งมีส่วนประกอบคือส่วนหน้ากาก และส่วนกรองอากาศ ที่แบ่งได้อีก 3 ลักษณะ คือ

  • ชนิดเป็นแผ่น ทำจากเส้นใยอัด ให้มีความพอเหมาะ สำหรับกรองอนุภาค 
  • ชนิดที่วัสดุกรองอากาศถูกบรรจุอยู่ในตลับแบบหลวม ๆ เหมาะสำหรับกรองฝุ่น
  • ชนิดที่มีประสิทธิภาพสูง โดยนำวัสดุกรองอากาศ ที่มีลักษณะเป็นแผ่นบางมาพับขึ้นลง
  • สายรัดศีรษะ ที่สามารถปรับสายได้ตรงตามขนาดหัวของเรา และยังกระชับกับหน้าผู้สวมใส่อยู่เสมอ 

นอกจากนี้ ยังมีหน้ากากกรองอนุภาค ชนิดใช้แล้วทิ้ง ส่วนประกอบของหน้ากาก คือ หน้ากาก และวัสดุกรองจะรวมไปชิ้นเดียวกัน ส่วนบนของหน้ากากมีแผ่นโลหะอ่อน ซึ่งสามารถปรับให้โค้งงอได้ ตามแนวสันจมูก เพื่อช่วยให้หน้ากากแนบกับใบหน้าผู้สวมใส่

หน้ากากกรองก๊าซไอระเหย ทำหน้าที่กรองก๊าซ และไอระเหย ที่แขวนลอยอยู่ในอากาศ ซึ่งมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือส่วนหน้ากาก และสายรัดศีรษะ เช่นเดียวกับที่กล่าวมาข้างต้น พร้อมด้วยส่วนกรองอากาศ ที่จะเป็นตัวจับมลพิษโดยการดูดซับ 

ประเภทที่ส่งอากาศจากภายนอกเข้าไปในหน้ากาก เป็นอุปกรณ์ป้องกันทางหายใจ ชนิดที่ต้องมีอุปกรณ์ส่งอากาศ หรือออกซิเจนให้กับผู้สวมใส่โดยเฉพาะ แบ่งเป็น

  • ชนิดที่แหล่งส่งอากาศติดที่ตัวผู้สวม โดยผู้สวมจะพกเอาแหล่งส่งอากาศ หรือถังออกซิเจนไปกับตัว ซึ่งสามารถใช้ได้นานถึง 4 ชั่วโมง โดยสามารถแบ่งหลักการทำงานของอุปกรณ์นี้ มี 2 แบบ คือ

แบบวงจรปิด หลักการคือ ลมหายใจออกจะผ่านเข้าไปในสารดูดซับ เพื่อกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 

แบบวงจรเปิด หลักการคือ ลมหายใจออกจะถูกปล่อยออกไปไม่หมุนเวียน กลับมาใช้อีก 

  • ชนิดที่ส่งอากาศไปตามท่อ ซึ่งจะมีถังเก็บอากาศห่างออกไปจากตัวผู้สวม อากาศ

6. อุปกรณ์ป้องกันลำตัว เป็นอุปกรณ์ที่สวมใส่เพื่อป้องกันอันตราย จากการกระเด็นจากกรดของสารเคมี หรือเพื่อป้องกันในระหว่างทำงานที่เกี่ยวของกับสิ่งที่มีความร้อนสูง หรือมีสะเก็ดลูกไฟ โดยสามารถแบ่งชนิดได้ดังนี้

ชุดป้องกันสารเคมี ทำจากวัสดุที่ทนต่อสารเคมี ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ เช่น ผ้ากันเปื้อน ป้องกันเฉพาะลำตัว และขา เสื้อคลุมป้องกันลำตัว แขน และขา เป็นต้น

ชุดป้องกันความร้อน ทำจากวัสดุที่สามารถทนความร้อน โดยใช้งานที่มีอุณหภูมิสูง ถึง 2000ºF เช่น ซึ่งมักจะเป็นผ้าที่ทอจากเส้นใยแข็ง เคลือบผิวด้านนอกด้วยอลูมิเนียม เพื่อสะท้อนรังสีความร้อน หรือทำจากหนัง เพื่อใช้ป้องกันความร้อน และการกระเด็นของโลหะที่ร้อน 

ชุดป้องกันการติดไฟ ซึ่งทำมาจากฝ้าย พร้อมด้วยสารป้องกันการติดไฟ หรืออาจจะเป็นทำจากผ้าใยแก้วฉาบตะกั่ว เพื่อป้องกันการสัมผัสรังสี

7. อุปกรณ์ป้องกันมือ ซึ่งจะช่วยป้องกันในส่วนของมือ นิ้วมือ และแขน ซึ่งอาจเสี่ยงต่ออันตรายจากการถูกวัตถุมีคม บาด ตัด การขูดขีดทาให้ผิวหนังถลอก การจับของร้อน หรือการใช้มือสัมผัสวัสดุอุปกรณ์ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายอื่น ๆ โดยสามารถแบ่งจากลักษณะการใช้งานได้ดังนี้

  • ถุงมือใยหิน ใช้สำหรับงานที่ต้องสัมผัสความร้อนเพื่อป้องกันมิให้มือได้รับอันตรายจากความร้อนหรือไหม้
  • ถุงมือใยโลหะ ใช้สำหรับงานที่เกี่ยวกับการใช้ของมีคม ในการหั่น ตัด หรือสัมผัสวัสดุอุปกรณ์ที่แหลมคม หยาบมาก
  • ถุงมือยาง ใช้สาหรับงานไฟฟ้า และถุงมือยางที่สวมทับด้วยถุงมือหนังชนิดยาว เพื่อป้องกันการถูกของมีคมบาดหรือทิ่มแทงทะลุ สาหรับใช้ในงานไฟฟ้าแรงสูง
  • ถุงมือยางชนิดไวนีลหรือนีโอพรีน ใช้สำหรับงานที่ต้องสัมผัสสารเคมีชนิดที่มีฤทธิ์กัดกร่อนหรือซึมผ่านผิวหนังได้
  • ถุงมือหนังใช้สำหรับงานที่ต้องสัมผัสวัสดุที่หยาบ งานที่มีการขัดผิว หรืองานเชื่อมที่มีความร้อนต่ำ
  • ถุงมือหนังเสริมใยเหล็ก ใช้สำหรับงานหลอมโลหะหรือถลุงโลหะ
  • ถุงมือผ้าหรือเส้นใยทอ ใช้สำหรับงานที่ต้องหยิบจับวัสดุอุปกรณ์เบา ๆ เพื่อป้องกันมือจากสิ่งสกปรกต่าง ๆ
  • ถุงมือผ้าหรือใยทอเคลือบน้ำยา ใช้สาหรับงานที่ต้องสัมผัสสารเคมีโดยทั่วไป เช่น งานหีบห่อ งานบรรจุกระป๋อง หรืออุตสาหกรรมอาหาร ฯลฯ

นอกจากนั้นยังมีอุปกรณ์ป้องกันมือ นิ้วมือ และแขน สำหรับใช้กับงานที่มีลักษณะเฉพาะด้านอื่น ๆ เช่น หนังหุ้มมือหรือเบาะรองมือใช้พันมือและแขน สำหรับงานที่ต้องสัมผัสความร้อนหรืองานที่มีสะเก็ดของร้อนกระเด็นกระทบมือและแขนได้

8. อุปกรณ์ป้องกันการตกจากที่สูง เช่น งานก่อสร้าง งานทำความสะอาด งานไฟฟ้า จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันการตกจากที่สูง ได้แก่

  • เข็มขัดนิรภัย ประกอบด้วยตัวเข็มขัด และเชือกนิรภัย ตัวเข็มขัด ทำด้วยหนังเส้นใยจากฝ้าย และใยสังเคราะห์ ได้แก่ ไนลอน
  • สายรัดตัวนิรภัย หรือสายพยุงตัว ที่ออกแบบมาเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเคลื่อนตัว ขณะทำงานได้ ซึ่งทำจากวัสดุประเภทเดียวกับเข็มขัดนิรภัย มี 3 แบบ คือ ชนิดคาดหน้าอก เอว และขา และชนิดแขวนตัว
  • สายช่วยชีวิต เป็นเชือกที่ผูกหรือยึดติดกับโครงสร้างของอาคาร หรือส่วนที่มั่นคง เชือกนี้จะถูกต่อเข้ากับเชือกนิรภัย และเข็มขัดนิรภัย หรือสายรัดตัวนิรภัย

ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า อุปกรณ์ PPE นั้น เป็นอุปกรณ์นิรภัยที่มีประโยชน์อย่างมากในงานอุตสาหกรรมหรืองานก่อสร้าง เพราะอุปกรร์ดังกล่าวนี้สามารถช่วยทำให้เราทำงานประเภทนี้ได้อย่างปลอดภัย และมีโอกาสที่จะเกิดอันตรายได้น้อย ดังนั้นมันจึงเป็นอุปกรณ์ที่มีคุณค่าอย่างยิ่งนั่นเอง