แนวทางการตรวจสุขภาพผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ

พื้นที่อับอากาศ (Confined Spaces) หมายถึง สถานที่ทำงานที่มีเนื้อที่จำกัด ทางเข้าออกแคบ มีการระบายความร้อนและอากาศไม่เพียงพอ อาจเป็นที่สะสมของสารเคมีเป็นพิษ สารไวไฟ มีออกซิเจนไม่เพียงพอ เช่น ถังน้ำมัน ถังหมัก ไซโล ท่อ ถัง ถ้ำ บ่อ อุโมงค์ เตา ห้องใต้ดิน  แก๊สหรือไอที่เกิดขึ้นไม่สามารถระบายออกไปได้ อาจสูดดมเอาแก๊สพิษเข้าไปในร่างกาย รวมถึงอาจมีแก๊สที่ติดไฟได้ หากเกิดอันตรายเมื่อเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่อับอากาศ จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้ยาก

ต้องตรวจสุขภาพตามข้อกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานในที่อับอากาศ พ.ศ. 2547  ซึ่งนอกจากจะส่งผลดีต่อผู้ตรวจแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนร่วมงาน ประสิทธิภาพของการทำงาน และองค์กรด้วย โดยผู้ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่อับอากาศจะต้องเข้ารับการตรวจประเมินสุขภาพทุกอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อรับใบอนุญาตเข้าปฏิบัติงาน

เริ่มจากการซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้นทั่วไป ตรวจคัดกรองโรคที่ควบคุมไม่ได้ หรืออาจกำเริบระหว่างปฏิบัติงาน โดยมากการตรวจร่างกาย มีดังนี้

1. ดัชนีมวลกาย (Body mass index)

ควรทำการตรวจทุกราย และระดับดัชนีมวลกายที่สามารถให้ทำงานในที่อับอากาศได้ คือ ไม่เกิน 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร (แต่ต้องเริ่มระมัดระวัง ตั้งแต่ดัชนีมวลกายเกิน 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ขึ้นไป)

2. ความดันโลหิต (Blood pressure)

ควรทำการตรวจทุกราย และระดับความดันโลหิตที่สามารถให้ทำงานในที่อับอากาศได้ คือ ไม่เกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท

3. อัตราเร็วชีพจร (Pulse rate)

ควรทำการตรวจทุกราย และอัตราเร็วชีพจรที่สามารถให้ทำงานในที่อับอากาศได้ คือ อยู่ในช่วง 60 -100 ครั้งต่อนาที หรือ 40 — 59 ครั้งต่อนาที ร่วมกับคลื่นไฟฟ้าหัวใจปกติ (Sinus bradycardia) หรือ 101 — 120 ครั้งต่อนาที ร่วมกับคลื่นไฟฟ้าหัวใจปกติ (Sinus tachycardia)

4. คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram)

ควรทำการตรวจทุกราย และให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาว่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจลักษณะใดบ้างที่สามารถให้ทำงานในที่อับอากาศได้ หรือ ไม่สามารถให้ทำงานในที่อับอากาศได้

5. สมรรถภาพปอดชนิดสไปโรเมตรีย์ (Spirometry) 

ควรทำการตรวจทุกราย โดยการแปลผลการตรวจให้ใช้เกณฑ์การแปลผลของสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ฉบับ พ.ศ. 2545 และผลการตรวจที่สามารถให้ทำงานได้ คือ ผลตรวจปกติ (Normal) หรือ จำกัดการขยายตัวเล็กน้อย (Mild restriction) หรือ อุดกั้นเล็กน้อย (Mild obstruction)

6. ภาพรังสีทรวงอก (Chest X-ray)

ควรทำการตรวจทุกราย และให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาว่าผลภาพรังสีทรวงอกลักษณะใดบ้างที่สามารถให้ทำงานในที่อับอากาศได้ หรือ ไม่สามารถให้ทำงานในที่อับอากาศได้

7. ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count) 

ควรทำการตรวจทุกราย โดยสามารถให้ทำงานในที่อับอากาศได้เมื่อมีระดับฮีโมโกลบิน(Hemoglobin) ตั้งแต่ 10 กรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป และ ระดับความเข้มข้นเลือด (Hematocrit) ตั้งแต่ร้อยละ 30 ขึ้นไป และ ระดับเกร็ดเลือด (Platelet) ตั้งแต่ 100,000 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตรขึ้นไป

8. สมรรถภาพการมองเห็นระยะไกล (Far vision test) 

ควรทำการตรวจทุกราย โดยความสามารถในการมองภาพ (Visual acuity) ระยะไกล เมื่อมองด้วยสองตา (Both eyes) ที่ดีที่สุดหลังจากทำการแก้ไขแล้ว (Corrected vision) ต้องไม่ต่ำกว่า 6/12 เมตร (หรือ 20/40 ฟุต)

9. สมรรถภาพการได้ยิน (Hearing Test) 

ควรทำการตรวจทุกราย โดยสามารถให้ทำงานในที่อับอากาศได้ถ้าผู้เข้ารับการตรวจสามารถฟังเสียงพูดและสื่อสารกับแพทย์ผู้ทำการตรวจได้เข้าใจดี

10. ตรวจปัสสาวะหาการตั้งครรภ์ (Urine pregnancy test) 

ไม่จำเป็นต้องทำการตรวจทุกราย แต่ต้องทาการซักประวัติคนทำงานเพศหญิงทุกรายว่ามีประวัติที่บ่งชี้ถึงการตั้งครรภ์ เช่น ประวัติประจำเดือนขาดหรือไม่ หากสงสัยให้ทำการตรวจปัสสาวะหาการตั้งครรภ์ทุกราย และหากพบว่าตั้งครรภ์ไม่ควรให้ทำงานในที่อับอากาศ

11. การตรวจร่างกายโดยแพทย์ (Physical examination) 

ควรทำการตรวจทุกราย โดยการประเมินผลความผิดปกติที่พบให้ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ตรวจ