อุปกรณ์ป้องกันการตกจากที่สูง

อุปกรณ์ PPE สำหรับป้องกันการตกจากที่สูง

อุปกรณ์ PPE เป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยในการป้องกันอันตรายและสร้างความปลอดภัยอย่างมหาศาล เพราะในการทำงานก่อสร้างและอุตสาหกรรม จะมีโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงอย่างมากมายในแต่ละด้านของการทำงาน เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการทำงาน โดยอุปกรณ์ PPE นั้นมีอยู่หลากหลายประเภท และหนึ่งในอุปกรณ์ PPE ที่ได้รับความนิยมและถูกใช้อยู่หลายครั้ง เช่น อุปกรณ์ป้องกันการตกจากที่สูง

อุปกรณ์ป้องกันการตกจากที่สูง เป็นอุปกรณ์นิรภัยที่จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำงานในระยะความสูงหลายเมตรได้อย่างสะดวกสบายและปลอดภัย โดยจะเหมาะสำหรับงานที่มีการทำงานบนพื้นที่สูงมากกว่า 4 เมตร โดยยังสามารถแบ่งการป้องกันได้ 3 ประเภท ดังนี้

1. การป้องกันในสถานที่ทำงาน โดยมีการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการตก เช่น ตาข่ายกันตก นั่งร้าน หรือ ใช้อุปกรณ์ป้องกันการตกส่วนบุคคลเมื่อไม่สามารถติดตั้งอุปกรณ์กันตกดังกล่าวได้

2. การป้องกันที่ตัวผู้ปฏิบัติงาน โดยผู้ปฏิบัติงานควรผ่านการอบรมในการปฏิบัติงานบนที่สูง

3. การป้องกันโดยใช้อุปกรณ์กันการตก ซึ่งจำเป็นที่จะต้องใช้อุปกรณ์ที่ได้รับมาตรฐานสากล หรือถ้าในกรณีที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ต้องได้ใบรับรองผลการทดสอบจากโรงงานผู้ผลิต และต้องไม่สร้างระบบหรืออุปกรณ์ป้องกันการตกด้วยตัวเอง

โดยอุปกรณ์ที่ใช้ในการป้องกันการตกจากที่สูง มีดังนี้

1. เข็มขัดนิรภัย ประกอบด้วยตัวเข็มจัด และเชือกนิรภัย ตัวเข็มขัด ทำด้วยหนังเส้นใยจากฝ้าย และใยสังเคราะห์ ได้แก่ ไนลอน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเข็มขัดนิรภัยอีกประเภทที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน นั่นก็คือเข็มขัดแบบรัดทั้งตัว ที่สามารถใส่ได้ทั้งตัว ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยดึงผู้ปฏิบัติงานถ้ามีการตก โดย Harness จะต้องเลือกให้เหมาะสมกับลักษณะการทำงานและจะต้องมีจุดเชื่อมต่ออย่างน้อย 1 จุดซึ่งปกติจะอยู่ทางด้านหลัง และต้องทำจากวัสดุอ่อนนุ่มแต่ทนทาน เพื่อป้องกันการบาดเจ็บโดยการตกจากที่สูง เป็นต้น

2. สายรัดตัวนิรภัย หรือสายพยุงตัว เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับงานที่ต้องเสี่ยงภัย ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเคลื่อนตัวหรือช่วยพยุงตัวในขณะทำงานได้ และยังทำจากวัสดุประเภทเดียวกับเข็มขัดนิรภัย มี 3 แบบ คือ ชนิดคาดหน้าอก เอว และขา และชนิดแขวนตัว

3. เชือก เป็นสิ่งที่ผูกหรือยึดติดกับโครงสร้างของอาคาร หรือส่วนที่มั่นคงของอาคารนั้น ๆ ซึ่งเชือกเส้นนี้จะถูกต่อเข้ากับเชือกนิรภัย และเข็มขัดนิรภัย หรือสายรัดตัวนิรภัย (สายพยุงตัว) เลยนั่นเอง โดยประเภทของเชือกที่ได้รับความนิยมคือ เชือกช่วยชีวิต ที่จะใช้ร่วมกับอุปกรณ์ยึดจับเชือก และยังมีเชือกช่วยชีวิตแบบที่หดกลับอัตโนมัติ 

นอกจากนี้ยังมีข้อปฎิบัติเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์ป้องกันการตกจากที่สูงก่อนที่จะใช้ ได้แก่

1. ก่อนใช้เข็มขัดนิรภัย ควรตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนว่ามีรอยฉีกขาดหรือไม่ ถ้าพบว่ามี ไม่ควรนำมาใช้งาน และเมื่อใช้ไป 1-3 เดือน ควรให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ

2. ควรทำความสะอาดทำเดือนละครั้ง โดยล้างด้วยน้ำอุ่น และสบู่กรด ตามด้วยน้ำสะอาด และปล่อยให้แห้ง ซึ่งถ้าเป็นเข็มขัดนิรภัยหนัง ก่อนที่จะแห้งสนิท ควรชโลมหนังด้วยน้ำมันระหุ่ง หรือน้ำมันถั่วเหลือง เพื่อเป็นการรักษาหนัง

นอกจากนี้ ยังมีองค์ประกอบหลักของระบบการป้องกันการตกที่เราควรจะรู้เอาไว้ ดังนี้

1. จุดยึด คือจุดที่เอาไว้สำหรับยึดตัวกับฐานหรือโครงสร้างต่าง ๆ ซึ่งโดยมาตรฐานสากลแล้ว อุปกรณ์ต้องสามารถรับแรงได้อย่างน้อย 22 KN และการใช้งานควรอยู่ในตำแหน่งเหนือหัวขึ้นไปและอยู่ในแนวเดียวกับผู้ใช้ เพื่อป้องกันการลดระยะการตกและลดการเหวี่ยงตัว

2. อุปกรณ์เชื่อมต่อ ควรมีอยู่อย่างน้อย 2 จุดคือจุดที่เชื่อมต่อกับจุดยึด และจุดที่ยึดกับตัว Harness จะต้องทนต่อการกัดกร่อนผิวจะต้องเรียบ ไม่มีรอยเชื่อม และทำจากเหล็กที่ผ่านการหล่อขึ้นรูปหรือ 

3. เชือก ควรอยู่ในลักษณะรักษาตำแหน่ง และความยาวเชือกควรมีระยะสั้นที่สุดเพื่อไม่ให้ผู้ใช้พลัดตกไปเกิน 2 ฟุต

นอกจากที่เราจะต้องรู้เรื่องอุปกรณ์ป้องกันการตกจากที่สูงแล้ว สิ่งที่เราคสรจะรู้อีกก็คือ สิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือจากนายจ้าง สำหรับการทำงานอยู่บนที่สูง ซึ่งมีดังนี้

1. ในกรณีที่นายจ้างให้ทำงานในที่สูงจากพื้นดินหรือพื้นอาคารตั้งแต่ 2 เมตรขึ้นไป สิ่งที่นายจ้างต้องทำก็คือ ต้องจัดให้มีนั่งร้าน บันได ขาหยั่ง หรือม้ายืน ที่ปลอดภัยตามสภาพของงานสำหรับผู้ปฏิบัติงานในงานนั้น ๆ

2. ในกรณีที่นายจ้างให้ทำงานบนที่ลาดชันที่ทำมุมเกินสามสิบองศาจากแนวราบและสูงตั้งแต่ 2 เมตร ขึ้นไป  ต้องจัดให้มีนั่งร้านที่เหมาะสมกับสภาพของงาน และต้องพร้อมไปด้วยอุปกรณ์ป้องกันการตกจากที่สูงทั้งหมด

3. ในกรณีที่นายจ้างให้ทำงานในสถานที่ที่มีโอกาสได้รับอันตรายจากการพลัดตกหรือถูกวัสดุพังทับ จากระยะความสูงตั้งแต่ 4 เมตร ขึ้นไป หรือทำงานบนหรือในถัง บ่อ กรวยสำหรับเทวัสดุ นายจ้างจะต้องจัดทำราวกั้นหรือรั้วกันตก ตาข่าย สิ่งปิดกั้น เพื่อป้องกันการพลัดตกของผู้ปฏิบัติงานหรือสิ่งของ และต้องจัดอุปกรณ์ป้องกันการตกที่สูงเอาไว้ให้พร้อม

4. งานก่อสร้างที่มีปล่องหรือช่องเปิดซึ่งอาจทำให้เกิดการพลัดตกไปได้นั้น สิ่งที่นายจ้างต้องทำคือ ต้องจัดทำฝาปิดที่แข็งแรง ราวกั้นหรือรั้วกันตกที่มีความสูงไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร และมีแผงทึบหรือขอบกันของตกมีความสูงไม่น้อยกว่า 7 เซนติเมตร พร้อมทั้งติดป้ายเตือนอันตราย

5. ในกรณีที่นายจ้างให้ทำงานในชั้นของอาคารหรือสิ่งก่อสร้างที่เปิดโล่งและอาจพลัดตกลงมาได้ นายจ้างจะต้องจัดทำราวกั้น หรือรั้วกันตกตามมาตรฐานของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ทันที

ดังนั้นแล้ว อุปกรณ์ป้องกันการตกจากที่สูงนั้น เป็นอุปกรณ์ที่เราควรจะตระหนักเป็นอย่างยิ่งในการนำไปใช้เพื่อทำงานก่อสร้างหรืออุตสาหกรรม เพราะจะช่วยทำให้เราสามารถปลอดภัยในการทำงานได้อย่างดี ดังนั้นมันจึงเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญอย่างมากต่อความปลอดภัยของเราเอง