การสร้างจิตสำนึกความปลอดภัย ด้วย KYT

การสร้างจิตสำนึกความปลอดภัย ด้วย KYT

KYT คืออะไร 

K =   KIKEN (คิเค็น) แปลว่า อันตราย
Y =   YOSHI (โยจิ) แปลว่า คาดการณ์
T =   TRAINING (เทรนนิ่ง) แปลว่า การฝึกฝน หรือ ฝึกอบรม

เมื่อรวมกันแล้วก็หมายถึงการฝึกอบรมการคาดการณ์อันตรายล่วงหน้า

KYT เป็นวิธีการของญี่ปุ่น ที่ใช้ในการฝึกฝนพนักงานให้มีความสามารถพิเศษในการมองอันตรายล่วงหน้าได้ จึงต้องฝึกฝนและปลูกฝังจิตสำนึกให้กับพนักงานทุกวัน และเป็นการเตือนสติก่อนการปฏิบัติงาน เพื่อขจัด ความผิดพลาดที่เกิดจากคน (Human Error)” 

ซึ่งสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่ มาจากคนมากถึง 88% หากเราสามารถขจัดความผิดพลาดที่เกิดจากคนได้ อุบัติเหตุก็จะลดลงไปด้วย

วัตถุประสงค์ทำ KYT เพื่ออะไร

  1. สร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัย ในการทำงานให้กับผู้ปฏิบัติงาน
  2. สร้างนิสัยการเตือนตนเอง ก่อนลงมือปฏิบัติงาน
  3. ให้ผู้ปฏิบัติงานค้นหาอันตรายต่างๆ และหาวิธีควบคุมป้องกัน
  4. ลดอันตรายหรืออุบัติเหตุด้วยวิธีการที่ผู้ปฏิบัติงานร่วมกันคิดค้น

หัวใจของ KYT ที่จะทำให้อุบัติเหตุเป็นศูนย์ มี 3 ประการ

  1. เกิดทุกครั้งที่จะทำงานใดๆ ว่ามีอันตรายอะไรแอบแฝงอยู่ แล้วหาทางป้องกัน
  2. ให้คำมั่นสัญญาหรือปฏิญาณตนต่อทีมงานและตนเองว่า “อุบัติเหตุต้องเป็นศูนย์” ก่อนลงมือทำงานในแต่ละวันหรือก่อนลงมือทำงานใดๆ
  3. ใช้วิธีการเตือนตนเองก่อนลงมือทำงาน โดยการตรวจดูความเรียบร้อยและความพร้อมของงาน และชี้นิ้วไปที่งานพร้อมกับตะเบ็งเสียงว่า ทุกอย่างพร้อม ปลอดภัย โอเค

การนำ KYT ไปใช้

1. การฝึกจากรูปภาพหรือเหตุการณ์สมมติ   โดยให้พนักงานรวมกันเป็นกลุ่ม และพิจารณาจากรูปภาพของสถานที่ทำงานแห่งหนึ่ง  โดยจะมีหนึ่งคนเป็นผู้นำในการมองหาจุดอันตราย จากนั้นจะชี้นิ้วไปที่ตำแหน่งที่ไม่ปลอดภัยในรูปภาพ แล้วเปล่งเสียงออกมา 

จากรูปภาพข้างต้น เราจจะเห็นสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น 

  • บันไดล้ม
  • มีบุคคลที่สามเดินมาชน เนื่องจากปฏิบัติงานบริเวณมุมทางเดิน

หากเราเริ่มต้นฝึกทำ KY เราอาจจะเลือกมา 1 สถานการณ์ แล้วฝึกทำ KY เช่น 

  • “จับบันได ปลอดภัย โอเค” 
  • “กั้นพื้นที่ ปลอดภัย โอเค”

หากเกิดความชำนาญแล้ว ก็สามารถรวมมาตรการป้องกันเข้าด้วยกัน แล้วนำมารวมเป็นคำพูดเข้าด้วยกัน  เช่น จับบันได กั้นพื้นที่ ปลอดภัย โอเค 

โดยการทำ KY ผู้นำจะชี้นิ้วไปที่จุดอันตรายนั้น พร้อมกับเปล่งเสียงออกมาว่าจับบันได กั้นพื้นที่ ปลอดภัย โอเค  หลังจากนั้นสมาชิกในกลุ่มจึงพูดตาม 3 ครั้งด้วยน้ำเสียงที่เข้มแข็ง พร้อมกับชี้นิ้วไปที่จุดอันตรายดังกล่าว เพื่อเป็นการให้คำมั่นสัญญาว่า จะปฏิบัติงานด้วยความปลอดภัย การฝึกปฏิบัติเช่นนี้ก่อนเริ่มงาน หรือก่อนเข้ากะทำงานเป็นประจำทุกวัน จะทำให้พนักงานเกิดจิตสำนึกต่อความปลอดภัยโดยอัตโนมัติ ถ้าวิเคราะห์ตามหลักการพัฒนาสมอง เรียกว่า การกระตุ้นให้เกิดการโปรแกรมให้สมองรับรู้และตื่นตัวอยู่เสมอ

2. การฝึกฝนในสถานที่จริง โดยวิธีการนี้ไม่จำเป็นต้องทำทุกวัน ส่วนใหญ่ทำเป็นรอบเวลาหรือครั้งคราวตามที่กำหนดไว้ในแผนงาน แต่ก็อาจจะมีบางแห่งที่ปฏิบัติกันเป็นประจำทุกวัน แทนการฝึกฝนจากรูปภาพ เพื่อเน้นย้ำและเตือนตนเองทุกครั้งก่อนลงมือปฏิบัติงาน เพื่อให้แน่ใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในสภาพที่พร้อมและปลอดภัย โดยการชี้นิ้วไปที่วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักร หรือสถานที่ทำงานใดๆ พร้อมกับกล่าวว่า ทุกอย่างพร้อม ปลอดภัย โอเค เรียกการทำเช่นนี้ว่า มือชี้ ปากย้ำ

ตัวอย่างของมือชี้ปากย้ำปัจจุบันมีให้เห็นมากขึ้นโดยเฉพาะโรงงานญี่ปุ่นจะสังเกตุได้ว่าเมื่อเราเข้าไปในบริษัทญี่ปุ่นจะเห็นจุดที่ต้องหยุดแล้วชี้นิ้วเช่นจุดที่เป็นมุมอับจุดที่มีการจราจรจะมีสัญลักษณ์ให้เห็นชัดเจนเช่น

 เห็นสัญลักษณ์นี้ ให้หยุด แล้วชี้นิ้ว  โดยต้องหันไปมองทางที่ชี้ พร้อมพูดว่า ขวาโอเค ซ้ายโอเค หน้าโอเค แล้วจึงเดินไป เพื่อเป็นการเช็คความปลอดภัย 

หากเราฝึกทำ KY เป็นประจำ สิ่งที่เราจะได้รับ คือ 

  1. รู้จักอันตราย
  2. คาดการณ์อันตรายล่วงหน้า
  3. มีความระวังมากขึ้น

การทำ KY เป็นวิธีที่จะทำให้อุบัติเหตุเป็นศูนย์ได้ แต่ทุกคนต้องร่วมใจและปฏิบัติอย่างจริงจัง

ซึ่ง KYT นั้นมีหลายรูปแบบ หากอยากรู้รายละเอียดเพิ่มเติม สามารถหาหลักสูตรฝึกอบรมได้ ปัจจุบันมีหลายสถานบัน เปิดสอน KYT แล้ว